ข่าวนักวิชาการห่วงล่าชื่อถอดกกต. ขยายวงสู่ความรุนแรง - kachon.com

นักวิชาการห่วงล่าชื่อถอดกกต. ขยายวงสู่ความรุนแรง
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 2 เม.ย. รศ.ดร. ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  กล่าววว่า การล่าชื่อถอดถอนกกต.เป็นสิทธที่ทำได้ แต่รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ได้ให้อำนาจประชาชนในการถอดถอนองค์กรอิสระโดยตรง จะต้องใช้การไต่สวนโดยป.ป.ช. ผ่านอัยการสูงสุด และศาลฎีกา ซึ่งต้องใช้เวลานาน คิดว่าน่าจะเวลานาน และถ้าเกิดขึ้นจริงคงเป็นช่วงหลังประกาศผลเลือกตั้งไปแล้ว ส่วนตัวมองว่าไม่ได้มีผลกระทบกับผลการเลือกตั้ง และเป็นคนละส่วนกับที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ การจะเป็นโมฆะได้คือต้องเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต อย่างไรก็ตาม แม้สุดท้ายแล้วกกต.ไม่สามารถทำหน้าที่ต่อได้ กลไกในรัฐธรรมนูญ ยังให้ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุดแต่งตั้งผู้มาปฏิบัติหน้าที่แทน

ทั้งนี้ ตนคิดว่าเรื่องกฎหมายไม่มีอะไรที่น่ากังวล แต่สิ่งที่น่ากังวลคือสถานการณ์ทางการเมืองมากกว่า เพราะในบรรดาผู้คนที่ลงชื่อถอดถอนกกต. แต่ถึงเวลาแล้วไม่สามารถดำเนินการได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม บรรดาผู้ที่ลงชื่ออาจจะพลิกเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือม็อบได้ หากเกิดขึ้นโอกาสเกิดความวุ่นวายได้อีกครั้ง ทั้งนี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองได้หรือไม่นั้น ตนมองว่าการเลือกตั้งที่จะทำให้ความขัดแย้งลดลงหรือบรรเทาลง ต้องเป็นการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับ แต่ ณ วันนี้ยังไม่มีการยอมรับร่วมกันเลย กกต.ยังถูกวิจารณ์ ทั้งเรื่องตัวเลขผู้มีสิทธิ 2 รอบไม่ตรงกัน บัตรเขย่ง เพิ่มทีหลังกว่า 4 ล้านเสียง รวมถึงสูตรการคำนวนวันนี้ก็ไม่ชัดว่าคืออะไร วันนี้อย่างน้อยมี 2 สูตร ที่กกต.ก็ไม่ได้ออกมาบอกว่าจะใช้หลักการใด ดังนั้นทั้งหมดนี้สะท้อนว่าคนไม่ยอมรับว่าการเลือกตั้งนี้จะเป็นข้อยุติ หรือเป็นทางออกให้สังคม

รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดวันนี้ล้วนมีความเสี่ยงเกิดความรุนแรง แม้ว่าทุกฝ่ายจะเคยมีบทเรียนมาแล้วก็ตามว่าบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งจะเดินต่อไม่ได้ วันนี้ปัญหาอยู่ที่การยอมรับมากกว่า ซึ่งถ้าจะไล่เรียงกันจริงๆ คงเริ่มตั้งแต่ที่มาของรัฐธรรมนูญ กระบวนการร่าง และผลลัพธ์ที่ออกมาคือระบบการเลือกแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ทำให้มีปัญหาจำนวนส.ส.ออกมาไล่เลี่ยกัน จัดตั้งรัฐบาลลำบาก คะแนนบัญชีรายชื่อก็ยังไม่ชัดว่าตกลง กกต.จะตีความสูตรไหน สังคมก็เอากฎหมายมาตีความตามทัศนคติของตนเองจนมีความหลากหลาย

ทั้งนี้ ทางแก้เรื่องรัฐธรรมนูญคงเป็นเรื่องที่ยังไกล แต่ระยะอันใกล้ตนมองว่าประเด็นสำคัญสุด คือบรรดาว่าที่ ส.ส. รวมถึงสว.ต้องตระหนักว่าท่านเป็นผู้แทนคนไทย ไม่ว่าท่านจะสนับสนุน ชื่นชอบใครก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องยึดเจตจำนงค์ของประชาชนที่เลือกท่านมา อันดับที่สองควรมีการพูดคุยระหว่างพรรคการเมืองเพื่อหาทางออกร่วมกันแทนที่จะมาเอาชนะกันด้วยคณิตศาสตร์การเมือง ตัวเลขการตั้งรัฐบาลต่าง  และสามหากจัดตั้งรัฐบาลได้ ในฐานะผู้แทนปวงชน ไม่ควรไปคิดว่าฝ่ายรัฐบาลต้องสนับสนุนรัฐบาลทั้งหมด ฝ่ายค้านก็ไม่ใช่ว่าจะค้านรัฐบาลทุกเรื่อง แต่เอาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง ส่วนประชาชนตนคิดว่าวันนี้ประชาชนได้ทำหน้าที่มาพอสมควรแล้ว ผ่านการเลือกตั้งและสะท้อนเจตจำนงออกมาในรูปแบบของส.ส. แต่ก็ต้องร่วมตรวจสอบว่าผู้แทนที่เลือกนั้นทำหน้าที่ดีเพียงใด ตอบเจตจำนงเพียงใด เชื่อว่าหากใช้กลไกอื่นๆ ได้ดีแล้วก็ไม่ควรหยิบกลไกบนท้องถนนมาใช้อีก เพราะจะเกิดวังวลความขัดแย้งอีก นักการเมืองในระบบและผู้เกี่ยวข้องว่าจะทำอย่างไรให้เป็นกลไกการเมืองแบบรัฐสภา ไม่ใช่นอกสภา

รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวอีกว่า สำหรับโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลวันนี้คงมีอยู่ แต่ไม่ง่ายนักเพราะภายใต้สภาวะเสียง 2 ฝั่งปริ่มน้ำ หากจัดตั้งได้รัฐบาลที่เกิดขึ้นก็อาจไม่มีเสถียรภาพ 2. เสียงที่ปริ่มน้ำ สุดท้ายประกาศผลแล้วอาจจะเกิดการไม่ยอมรับอาจจะนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ และ 3. มีโอกาสเกิดรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้มีความเป็นไปได้หมด เชื่อว่ายังไม่ถึงทางตัน เพราะสุดท้ายลักษณะการเมืองไทยประรีประนอมสูง แต่เป็นทางที่ขรุขระหน่อย.