กษ.ส่งทีมตรวจการเผาพื้นที่เกษตรบรรเทาฝุ่นพิษเหนือ-อีสาน
การเมือง

นอกจากนี้บูรณาการกับกรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอำนวยการ กำกับ ติดตาม ให้หน่วยงานในระดับจังหวัดปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ตามมาตรการ “4 พื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการ” อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โครงการส่งเสริมการไถกลบและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โครงการส่งเสริมระบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ภาคเหนือ และแผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยการปฏิบัติการฝนหลวงและดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อลดความหนาแน่นของหมอกควัน รวมทั้งเพิ่มความชุมชื้นให้กับพื้นที่ป่า
ทั้งนี้ให้อธิบดีและหัวหน้าส่วนราชการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ร่วมเป็นชุดปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาเศษซากพืช และเศษวัสดุการเกษตร และสนับสนุนงบประมาณแก่เจ้าหน้าที่ในสังกัด พร้อมทั้งกำกับและติดตามการดำเนินการดังกล่าวพร้อมกันนี้กำชับให้หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายผู้ตรวจราชการทุกเขตลงพื้นที่ตรวจติดตามการปฏิบัติการงานแก้ไขปัญหา โดยให้ประเมินจากจุดความร้อน (hot spot) และปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM 10) โดยเฉพาะในพื้นที่การเกษตร หากพบปัญหาอุสรรคในพื้นที่ให้มีการรายงานเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อไปโดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักแผนงานและโครงการพิเศษ ติดตามสถานการณ์ดังกล่าว และรายงานผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานงานรณรงค์เก็บเกี่ยวโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาที่อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ 2,876 ราย พื้นที่ปลูกรวม 25,070.75 ไร่ คาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จะเก็บเกี่ยวได้ทั้งสิ้น 25,543.62 ตัน ประกอบด้วยที่อำเภอสามเงา 6,665.25 ตัน อำเภอบ้านตาก 4,115.41 ตัน อำเภอมืองตาก 163.20 ตัน อำเภอวังเจ้า 98.53 ตัน อำเภอพบพระ 1,066 ตัน อำเภอแม่สอด 12,308.45 ตัน อำเภอแม่ระมาด 395.95 ตัน และอำเภอท่าสองยาง 730.84 ตัน ขณะนี้เก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปแล้ว 2,283.25 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9.11 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด ได้ผลผลิตข้าวโพดเฉลี่ย 1 ตันต่อไร่ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดตากคาดว่า ผลผลิตส่วนใหญ่จะออกในเดือนเมษายนและเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมดในเดือนพฤษภาคม ขณะนี้ทั้งสหกรณ์การเกษตรและภาคเอกชนมาตั้งจุดรับซื้อครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยสหกรณ์รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคา 6.26 บาทต่อกิโลกรัม ที่ความชื้นร้อยละ 30 แล้วสหกรณ์จำหน่ายให้คู่ค้าคือ ผู้แทนบริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) ราคา 6.31 บาทต่อกิโลกรัม ที่ความชื้นร้อยละ 30 เกษตรกรได้ผลตอบแทนไร่ละ 5,950 บาท ดังนั้นเกษตรกรที่หันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาจึงได้ผลตอบแทนมากกว่าปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งทำให้เกษตรกรจังหวัดตากที่เข้าร่วมโครงการพึงพอใจอย่างยิ่งเนื่องจากมีรายได้มากขึ้น.