'บิ๊กอู๋'ปั้นแรงงานป้อนตลาดขนส่ง-การค้าระหว่างประเทศ
การเมือง
พล.ต.อ.อดุลย์ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นกลไกส่งผ่านของสินค้าและบริการจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค ดังนั้น ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ การพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องอาศัยกลไกเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐ โดยเฉพาะกลุ่มผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีให้มีงานทำ มีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศกว่า 2,700 ราย ครอบคลุมการจ้างงานไม่น้อยกว่า 250,000 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า314,000 ล้านบาทต่อปี รองรับอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ EEC และโครงการเมกะโปรเจ็คของรัฐบาล
ด้าน นายสุทธิ สุโกศล อธิบดี กพร. กล่าวว่า ปัญหาการลดลงของผลิตภาพแรงงาน และกำลังแรงงาน การขาดแคลนแรงงาน ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2561 – 2564) ที่เน้นให้แรงงานมีศักยภาพเพียงพอต่อการส่งเสริม สนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และแก้ปัญหาการว่างงานในกลุ่มนักศึกษากว่า 170,000 คน ทางกพร.จึงได้ร่วมกับสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) แก้ปัญหาโดยฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานป้อนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะมีงานรองรับ มีรายได้เฉลี่ย 18,150 บาท/ คน/เดือน และวางแผนระยะยาว 5 ปี (2563-2567) พัฒนาแรงงาน 2,500 คนป้อนธุรกิจรับส่งสินค้าระหว่างประเทศ.