ข่าวกฤษฎา เร่งจัดโควต้าปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์แก้สินค้าล้น ราคาตก - kachon.com

กฤษฎา เร่งจัดโควต้าปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์แก้สินค้าล้น ราคาตก
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 6 เม.ย.นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตนได้เร่งขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคเกษตรทั้งระบบ โดยจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศที่มีประสิทธิภาพ ได้สั่งการปลัดกระทรวงเกษตรฯ และเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือผลผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ทั้งปริมาณการผลิตและปริมาณความต้องการของตลาดภายในประเทศและตลาดโลก จากแหล่งข้อมูลในพื้นที่ทำการเกษตรจริง ขณะที่ สำนักงานทูตเกษตรและทูตพาณิชย์ทุกแห่งและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา และกระทรวงพาณิชย์ได้ทำปฏิทินฤดูกาลสินค้าเกษตรเป็นรายชนิด อาทิ ฤดูกาลผลิต ความต้องการใช้ การนำเข้า ส่งออก โครงสร้างและสถานการณ์ราคา ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม รวบรวมข้อมูลความต้องการผลผลิตทางการเกษตรในภาคอุตสาหกรรม แล้วนำข้อมูลข้างต้นมาคำนวณเพื่อคาดการณ์ว่า ประเทศไทยควรผลิตสินค้าเกษตรแต่ละชนิดในปริมาณเท่าใด นอกจากนี้ให้ประสานกรมพัฒนาที่ดินเพื่อนำข้อมูลแผนที่แสดงความเหมาะสมในการทำเกษตรกรรม (Agri-Map) มาใช้ในการจัดทำข้อมูลมาประกอบการจัดทำเป็นแผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศด้วย

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า จากนั้นจะแผนการผลิตทางการเกษตร มาให้หน่วยงานที่ทำหน้าส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมงใช้แนะนำเกษตรกรต่อไป พร้อมทั้งกำหนดปริมาณการผลิตที่เหมาะสม (โควต้า) เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ ทั้งนี้แผนการผลิตสินค้าเกษตรทุกชนิด สศก. ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของราคาร่วมกับกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด เพื่อแจ้งเตือนภัยให้หน่วยงานส่งเสริมการผลิตในการเตรียมวางแผนเพิ่มหรือลดปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา และป้องกันไม่ให้เกษตรกรขาดทุน ทั้งนี้ให้จัดทำรายงานเป็นรายไตรมาส และรายงานประจำปี โดยรายงานฉบับแรกเริ่มในไตรมาส 3/2562 หรือเดือ นก.ค.นี้ เป็นต้นไป

“จะกำหนดโควตาการผลิตทุกชนิดให้สมดุลกับความต้องการตลาด กำหนดปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์ หรือทำประมงให้ทำในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมตามAgri-Map จะช่วยลดต้นทุนและได้ผลผลิตสูง เป็นการผลิตแบบทำน้อย ได้มาก แก้ปัญหาราคาตกต่ำ เกษตรกรขายขาดทุนซ้ำซาก ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละปีต้องใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท เข้าพยุงราคาในการประกัน รับจำนำ และยังไม่ทำให้โครงสร้างภาคเกษตรเข้มแข็งขึ้น ดังนั้นการวางแผนการผลิตเกษตรฯนี้จะลดการสูญเสียงบประมาณของประเทศและสร้างฐานราก ยกระดับรายได้ให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคงอย่างยั่งยืน” นายกฤษฎา กล่าว.