ข่าวพปชร.บุกเชียงใหม่ หาทางแก้วิกฤติฝุ่น-ควัน - kachon.com

พปชร.บุกเชียงใหม่ หาทางแก้วิกฤติฝุ่น-ควัน
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) พร้อมคณะทำงานด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคลงพื้นที่ ติดตามสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นควัน โดยร่วมหารือสถานการณ์และแนวทางการแก้ปัญหาจัดการไฟป่ากับเจ้าหน้าที่ศูนย์กำกับดูแลไฟป่า อ.สะเมิง รวมถึงสอบถามปัญหาด้านสุขภาพกับประชาชนผู้ประสบเหตุในพื้นที่ จำนวนมากที่มารอรับบริการตรวจสุขภาพจากสาธารณสุขและมารับการให้การอบรมความรู้เรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และสาธิตวิธีการดัดแปลงพัดลมให้สามารถดักฝุ่นผ่านแผ่นกรอง



นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองมีผลกระทบอย่างมากกับประชาชนในพื้นที่ โดยเห็นได้จากวันนี้มีผู้ประสบเหตุมารวมตัวเพื่อขอความช่วยเหลือด้านสุขภาพจากทางสาธารณสุขจำนวนมาก ทั้งนี้จำเป็นต้องมีมาตราการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวทั้งในระยะสั้น กลาง และ ยาวให้ได้ โดยมลพิษในฝุ่น PM 2.5 นั้นสร้างความเสียหายให้กับประเทศปีละหลายหมื่นล้าน ไม่ว่าจะเป็นในระยะสั้นที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เดินไม่ได้ สร้างปัญหาด้านสุขภาพให้กับพี่น้องประชาชนในระยะกลาง และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในระยะยาว

โฆษก พปชร. กล่าวว่า ทางทีมนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคพปชร. ได้หารือแนวทางนโยบายการแก้ปัญหาเบื้องต้นกับนักวิชาการต่างๆ มาระยะหนึ่งแล้ว วันนี้มาลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ รับฟังปัญหาและข้อคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม โดยหลังจากนี้จะเดินทางต่อไปพบนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพปชร. เพื่อหารือการบริหารจัดการพื้นที่เซฟโซนและระดมความคิดกับนักวิชาการในหลายภาคส่วนที่ศูนย์ประชุมในพื้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่



นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ในการแก้ปัญหาในระยะยาวจำเป็นต้องแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการลดความรุนแรงของไฟป่า การลดการเผาฟางจากไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด เป็นต้น โดยในการในปัจจุบันมีตัวอย่างในการนำฟางข้าวโพดให้เกิดประโยชน์และรายได้สูงสุด ซึ่งจะทำให้เกิดการนำฟางข้าวโพดไปใช้ประโยชน์แทนการเผาแล้ว เช่น ฟางข้าวโพดสามารถนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ใบอ้อยสามารถนำไปทำใช้ผลิตไฟฟ้า ใบอ้อยสามารถนำไปเป็นอาหารให้วัววากิว เป็นต้น ซึ่งในอนาคตควรมีการทำวิจัยต่อยอดและมีมาตราการส่งเสริมให้เกิดการนำวัตถุดิบจากฟางข้าวโพดไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป.