ข่าว"กฤษฎา"จ่อชงครม.แก้กฎหมายกฟก.ปลดหนี้เกษตรกร - kachon.com

"กฤษฎา"จ่อชงครม.แก้กฎหมายกฟก.ปลดหนี้เกษตรกร
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการกองทุนและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เฉพาะกิจ เปิดเผยว่าได้ทำหนังสือเสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ใน 3 มาตรา โดยกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) ซี่งนายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล ประธานที่ปรึกษาสมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทยพร้อมเครือข่ายหนี้สินเกษตรกร ประมาณ 500 คน ได้นำเกษตรกรมาเรียกร้องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งก่อนหน้านี้ ได้ติดตามทวงถามมาเป็นเวลานานโดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือ ขอให้แก้ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 3 มาตราได้แก่ มาตรา 16 แก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร เพิ่มจาก 2 ปีเป็น 4 ปีเพื่อให้คณะกรรมการสามารถทำงานได้ยาวนานขึ้นและประหยัดงบประมาณในการเลือกตั้งได้เป็นจำนวนมาก มาตรา 23 แก้ไขที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และสาขาจังหวัดซึ่งตามที่กำหนดไว้เดิมในพ.ร.บ. ต้องมีที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น จึงปรับเป็นให้สามารถจัดหาที่ตั้งของสำนักงานได้ตามความจำเป็นมากขึ้นโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และมาตรา 37/9 ปรับปรุงแก้ไขวิธีการชำระหนี้แทนเกษตรกร กรณีหลักทรัพย์ค้ำประกันและใช้บุคคลค้ำประกัน โดยให้กองทุนฟื้นฟูฯสามารถซื้อหนี้บุคคลค้ำประกันไปบริหารได้ด้วย เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จึงได้ลงนามถึงนายสมคิดเพื่อให้ความเห็นชอบนำเข้าครม.ต่อไป


ด้านนายยศวัจน์ กล่าวว่า ดีใจมากที่รมว.เกษตรฯเร่งรัดแก้ปัญหา นำไปสู่การแก้ไขข้อกฎหมาย กฟก. รวมทั้งการออกคำสั่งให้มีคณะทำงานการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหนี้สินนั้นจะช่วยให้เกษตรกรสามารถร่วมกับกฟก. ในการเจรจาจัดการหนี้สินกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ด้วยวิธีการที่ไม่เสียวินัยการเงินการคลัง สิ่งที่ผู้แทนเกษตรกรพึงพอใจที่สุดคือ ในการออกระเบียบกฟก. สำหรับใช้เสนอโครงการส่งเสริมฟื้นฟูอาชีพของสมาชิกกฟก. ซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งแรกใน 20 ปีนับแต่ก่อตั้งกฟก. ที่นายกฤษฏา มาเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ตรงตามเจตนารมย์กองทุนฟื้นฟูฯโดยแท้จริง ซึ่งระเบียบนี้จะช่วยเกษตรกรได้รับการสนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อปี เมื่อเกษตรกรมีรายได้จะสามารถชำระหนี้ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องนำงบประมาณจำนวนมากไปซื้อหนี้จากสถาบันการเงินต่างๆอีกต่อไป และสำคัญที่สุดคือเกษตรกรทำกินเลี้ยงชีพอยู่ในที่ดินของตนเอง ไม่ถูกยึกทรัพย์ขายทอดตลาด รักษาที่ดินไว้ให้ลูกหลานสืบต่ออาชีพเกษตรได้ยั่งยืน.