ข่าวผู้ตรวจฯครบ19ปีขีดเส้นแก้ปัญหาเรื่องทุกข์ไม่เกิน2ปี - kachon.com

ผู้ตรวจฯครบ19ปีขีดเส้นแก้ปัญหาเรื่องทุกข์ไม่เกิน2ปี
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงวันครบรอบ 19 ปี สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่า 19 ปีที่ผ่านมาของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินถือว่ามีพัฒนาการตามลำดับ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 60 ให้อำนาจรักษาสิทธิประชาชนมากขึ้น และให้ทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐมากขึ้นในการปรับปรุงคุณภาพการทำงานของหน่วยงานภาครัฐให้สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ดีขึ้น อีกทั้งได้เน้นย้ำเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมุ่งเน้นให้หน่วยงานภาครัฐขจัดปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและให้ความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น  ทั้งนี้ตั้งแต่ปลายปี 60-ปี62 เป็นช่วงการปรับโครงสร้างให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหน่วยงานรัฐต่างๆต้องให้ความร่วมมือกับองค์กรอิสระในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนมีความใกล้ชิดมากขึ้น ที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการประชุมร่วมกันกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มากขึ้นเพื่อทำให้ความร่วมมือในการทำงานแน่นแฟ้นมากขึ้น มีการพึ่งพากันมากขึ้นเพื่อทำงานแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
                
เมื่อถามถึงเรื่องร้องเรียนที่ยังคั่งค้างอยู่ และต้องเร่งพิจารณา พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า ไม่มีคั่งค้างเพราะเรามีหลักเกณฑ์ว่าต้องดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง และพิจารณาแก้ไขร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐให้แล้วเสร็จไม่เกินระยะเวลา 2 ปี  ซึ่งบางเรื่องแก้ไขปัญหาได้ไม่ยากก็จะแล้วเสร็จโดยเร็ว  ส่วนบางเรื่องเรื่องที่แก้ไขยาก มีความซับซ้อน ต้องใช้การแก้ไขปัญหาทางเทคนิคและข้อกฎหมาย อีกทั้งต้องมีวิธีการสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน โดยอย่าลืมว่ากฎหมายไม่ใช่ตัวยุติธรรม เพียงแต่เป็นเครื่องมือหนึ่งในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมที่ทำให้การทำงานมีความละเอียดอ่อน เพราะต้องดูข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยทำอย่างไรให้ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไขอย่างดีที่สุด
               
เมื่อถามว่า สถานการณ์ช่วงนี้ทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำงานหนักมากขึ้นหรือไม่ พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า  ไม่ได้ลำบากมากขึ้น แต่ต้องใช้ความรอบคอบมากขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญปี 60 เป็นเรื่องใหม่ มีหลายเรื่องอยู่ในตัวบทกฎหมายแต่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง เช่น เรื่องการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.  อีกทั้งเรื่องที่เราต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ เช่น เรื่องโซเชียลมีเดียการประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าอยากได้เร็ว แต่ความแม่นยำอาจจะเสียหายไป อีกทั้งต้องไปดูข้อกฎหมายด้วยว่าให้ทำอะไรและไม่ให้ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งองค์กรอิสระทุกองค์กรต้องทำงานรอบคอบมากขึ้น.