ข่าวนักวิชาการจี้กกต.เปิดคะแนนเลือกตั้ง-สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ - kachon.com

นักวิชาการจี้กกต.เปิดคะแนนเลือกตั้ง-สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอนุสรณ์ อุณโณ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เป็นตัวแทนยื่นจดหมายเปิดผนึกเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองถึงกกต. โดยนายอนุสรณ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. นอกจากไม่ช่วยให้ประเทศไทยพ้นสภาวะวิกฤติตามที่ควรจะเป็น กลับยิ่งซ้ำเติมให้วิกฤตรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่มีข้อพิรุธและก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้มาใช้สิทธิที่ไม่ตรงกับบัตรลงคะแนน จำนวนคะแนนร้อยละ 5 สุดท้าย ที่ไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนหน่วยเลือกตั้ง หรือว่าวิธีการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ผิดหลักการรวมทั้งอาจขัดรัฐธรรมนูญ ขณะที่ประชาชนที่เข้าชื่อถอดถอนกกต. เพราะเห็นว่าปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมกลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท ยิ่งสร้างความไม่พอใจในสังคมเพิ่มขึ้น ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าว กำลังพาสังคมไทยไปสู่จุดตีบตันหรือว่าวิกฤติระลอกใหม่ คนส.จึงมีข้อเรียกร้องต่อ กกต. ดังนี้ 1. กกต. ต้องเปิดเผยผลการนับคะแนนรายหน่วยเลือกตั้ง รวมถึงวิธีการรวบรวมผลการนับคะแนน เนื่องจากผลคะแนนรวมที่กกต. รายงานไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ หากผลคะแนนไม่ตรงกัน กกต. ก็ต้องนับใหม่ให้สิ้นข้อสงสัย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับผลคะแนนรวมในที่สุด

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า  2. กกต. ต้องเปิดเผยวิธีการและขั้นตอนการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อโดยละเอียดอย่างเป็นทางการ เนื่องจากการแถลงข่าวของ กกต. ที่ผ่านมาที่ไม่ได้ระบุวิธีการลงคะแนนที่ชัดเจนยิ่งก่อให้เกิดข้อกังขาว่าอาจมีการนำวิธีการคำนวณที่ไม่ถูกต้องมาใช้ในทางที่เอื้อประโยชน์บางฝ่าย หาก กกต. ไม่เร่งสร้างความกระจ่าง รวมทั้งไม่นำวิธีการคำนวณที่ถูกต้องที่ฝ่ายต่างๆ เสนอมาประกอบการพิจารณา การประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของ กกต. ก็จะไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน  3. กกต. ต้องถอนฟ้องประชาชนที่แชร์การลงชื่อถอดถอน กกต. รวมถึงประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงาน กกต. ในลักษณะอื่น เพราะการลงชื่อและการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐและเป็นการใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตามกติกา ไม่ได้มีเจตนาจะหมิ่นประมาท กกต. ไม่ควรใช้กฎหมายมาปิดปาก หรือสุ่มเลือกดำเนินคดีกับบางคนภายใต้เป้าหมายบางประการ หากกกต.ไม่ถอนฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 7 ราย ก็ขอให้ดำเนินคดีกับนักวิชาการที่ลงชื่อและแชร์การถอดถอน กกต. ใน Change.orgจำนวน 121 คนเพื่อความเท่าเทียมกัน


“อยากให้กกต.ทำงานด้วยความกล้าหาญมากกว่านี้ อย่าเห็นแก่ตนเองที่ได้รับการปลุกปั่นหรือหวาดกลัวสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อทำให้กกต.เป็นองค์กรอิสระที่เที่ยงธรรม อย่างไรก็ตามจากการติดตามการทำงานของกกต.ในช่วงแรกๆเครือข่ายเราได้เดินทางมาให้กำลังใจกกต.ถึง  2 ครั้ง แต่หลังจัดการเลือกตั้งแล้วเสร็จพบว่ากกต.ชุดนี้มีความไม่เป็นกลางมากที่สุด ส่วนตัวประเมินว่าสอบตก เพราจนถุงขณะนี้ตอบไม่ได้ว่าเหตุใดจำนวนผู้ใช้สิทธิ์กับจำนวนบัตรลงคะแนนจึงไม่ตรงกัน นอกจากนี้ยังทราบมาว่าหน่วยงานของรัฐละหน่วยงานความมั่นคงจำนวนมาก็นับคะแนนการเลือกตั้งเป็นรายหน่วยเช่นกัน แต่ภาพรวมตัวเลขไม่ตรงกัน จึงเป็นข้อสงสัยว่านับกันแบบไหนถึงไม่ตรงกัน ดังนั้นกกต.ควรจะรีบเปิดเผยผลคะแนนโดยเร็วที่สุด สิ่งที่เครือข่ายนักวิชาการต้องการคือเรียกร้องให้กกต.เปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยถ้าพบว่ามีความผิดพาดในหน่วยใดก็ให้นับคะแนนใหม่ และถอนฟ้องผู้ต้องหาทั้ง7 คนไม่ได้มองไปไกลถึงทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ การลงชื่อถอดถอนเป็นเพียงยุทธวิธีเพราะเอาเอาจริงการลงชื่อถอดถอนนั้นไม่ได้มีผลทางกฎหมาย แต่ทำไปเพื่อให้เกิดแรงกดดันทางสังคม” นายอนุสรณ์ กล่าว

ต่อมาเวลา 11.45 น. นายอัมรินทร์ สายจันทร์ นักกฎหมายมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม นำรายชื่อ 63 เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมและมนุษยชนเข้ายื่นต่อประธานกกต. เพื่อขอเรียกร้อง 3 ข้อ คือ  1. ขอให้กกต.ถอนคำร้องทุกข์กับผู้กล่าวหาทั้ง 7 คนโดยทันที และยุติการแจ้งความต่อประชาชนอื่นที่เผยแพร่รณรงค์และเข้าร่วมลงชื่อถอดถอน กกต.2. ให้เปิดเผยผลคะแนนเป็นรายหน่วยของทุกหน่วยเลือกตั้ง โดยเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดต่อสาธารณเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวกไม่ใช่ผลักภาระให้แต่ละคนต้องเดินทางไปยื่นคำร้อง และขอคัดถ่ายสำเนาข้อมูลเอง และ3.เรื่องการคำนวณที่นั่งส.ส.บัญชีรายชื่อต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. อย่างเคร่งครัด โดยพรรคการเมืองที่จะได้รับการจัดสรรที่นั่งส.ส.อย่างน้อย 1 ที่นั่ง ต้องได้คะแนนจากประชาชนรวมกันทุกเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 71,065 คะแนน เป็นอัตราส่วนเดียวกันทุกพรรคการเมือง.


.