ข่าว16จว.ประกาศเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ - kachon.com

16จว.ประกาศเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์เดินทางไปยังจังหวัดสระแก้วเพื่อประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาได้แก่ ด่านกักกันสัตว์ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านตรวจพืช ด่านตรวจสัตว์น้ำ ด่านควบคุมโรค ด่านศุลกากร เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจเพื่อให้ทราบสภาวการณ์ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ซึ่งล่าสุดพบที่กัมพูชา ทั้งนี้จังหวัดสระแก้วส่งออกสุกร ไปยังกัมพูชา ซึ่งถือเป็นจุดเสี่ยงที่สำคัญต่อการแพร่เชื้อเข้ามา จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้แผนเตรียมความพร้อมรับมือโรค ASF เป็นวาระแห่งชาติจึงต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ ประกอบกับช่วงเทศกาลวันสงกรานต์จะมีการสัญจรผ่านแดนอย่างคับคั่ง ที่ประชุมจึงมอบหมายกองสารวัตรและกักกันจัดกำลังคนเพื่อช่วยในจุดที่ขาด ให้ตรวจค้นผู้เดินทางเข้าไทยเป็นรายบุคคล หาพบนำซากสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ให้ยึดของกลางที่ติดตัวมากับผู้เดินทาง แล้วใช้มาตรการทางการปกครองเช่น การกักตัว และ/หรือยึดบัตรผ่านแดนชั่วคราว (รายวัน) แต่หากลักลอบนำเข้าเพื่อขาย ให้จับกุมดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะที่กำกับดูแลผู้ประกอบการส่งออกสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ให้เปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง เป็นการนำยานพาหนะขนถ่ายข้ามแดน ถ่ายสุกรส่งออกจากประเทศไทยที่บริเวณพรมแดน และห้ามนำรถภายในประเทศเข้าไปส่งสุกรในกัมพูชา พร้อมทั้งให้พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งก่อน และหลังการขนส่ง สมาคมผู้เลี้ยงสุกรทั้ง 6 ภาค พิจารณาเตรียมเงินชดเชยเพื่อให้จ่ายได้ทันท่วงที กรณีที่มีการแจ้งโรคเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ให้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้เดินทางทราบถึงข้อกำหนดในการเฝ้าระวังโรคเพิ่มขึ้นด้วยสื่อต่างๆ ได้แก่เสียงตามสายและประกาศที่จุดพรมแดน ปศุสัตว์จังหวัดและปศุสัตว์อำเภอทำความเข้าใจกับประชาชนงดการนำเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์จากกัมพูชาเข้ามาค้าขายหรือประกอบอาหาร ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ปฏิบัติตามระบบความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด

นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ กล่าวเน้นย้ำให้ใช้มาตรการ 3+3 เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคอย่างเข้มแข็งคือ ต้องให้ความรู้และทำความเข้าใจกับเกษตรกรจึงจะได้รับความร่วมมือ รู้โรคเร็ว เข้าควบคุมโรคเร็ว เพื่อให้โรคสงบเร็ว ทั้งนี้ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในการควบคุมโรคและปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสุกร เพื่อให้การป้องกันโรคเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะได้ผลักดันให้ออกเป็นประกาศกรมปศุสัตว์เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายต่อไป

จากนั้นตรวจเยี่ยมพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน อำเภอคลองหาดซึ่งเป็นจุดที่มีการส่งออกสุกรมีชีวิตจากประเทศไทย กำลังเร่งก่อสร้างตั้งจุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและชำระล้างยานพาหนะขนส่งสุกรส่วนที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศเป็นจุดที่มีการสัญจรข้ามแดนไปมาได้ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่กองกำลังบูรพาตรวจค้นสัมภาระจากชาวกัมพูช ซึ่งจะเดินทางกลับเข้ามาทำงานที่ประเทศไทยหลังจากวันที่ 20 เมษายน เป็นต้นไป ร่วมกับตำรวจ นายด่านศุลกากร โดยให้ตรวจเป็นรายบุคคลเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรจากกัมพูชาสู่ไทย

“แม้องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) แจ้งว่า ได้รับรายงานการติดเชื้อเพียงจุดเดียวในเมืองรัตนคีรี ติดชายแดนเวียดนาม แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคไปหลายจุดแล้ว อาจเป็นเช่นเดียวกับเวียดนามซึ่งหลังมีการรายงานโรคครั้งแรก เพียง 1 เดือนแพร่ระบาดไปถึง 113 จุด เปรียบเทียบกับจีนซึ่งมีระบบเผชิญโรคที่มีประสิทธิภาพมากกว่านั้น หลังจากรายงานเกิดโรคครั้งแรก ผ่านไปถึง 8 เดือนจึงพบการระบาด 113 จุด ดังนั้นไทยจึงต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น” นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัด 16 จังหวัดตามแนวชายแดนประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ได้แก่ จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน หนองคาย น่าน บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร เลย อุตรดิตถ์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อานาจเจริญ สระแก้ว จันทบุรี และตราด เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานในจังหวัดช่วยป้องกัน เตรียมแนวทางรับมือ และฟื้นฟูเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด.