จิตแพทย์ห่วงแนวโน้ม นศ.ฆ่าตัวตายสูงขึ้น
การเมือง
-
สนับสนุนเนื่อหา
-
เมื่อวันที่ 13 เม.ย. นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ อดีตนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว “นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์” ระบุว่า จากสถานการณ์ข่าวการฆ่าตัวตายในกลุ่มนักศึกษาที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2562 เป็นต้นมาและเมื่อวานเพียงวันเดียวมีข่าวการฆ่าตัวตายในน้องนักศึกษาถึง 3 คน เบื้องต้นตนขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียด้วย ทั้งนี้การสร้างความเข้มแข็งเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในระบบมหาวิทยาลัยโดยอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นส่วนสำคัญที่สามารถลดการสูญเสียดังกล่าวได้ เนื่องจากในระบบมหาวิทยาลัยเด็กมีความเป็นอิสระมากกว่าระบบมัธยม ตนเคยไปสอนที่คณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยหนึ่ง เพียงแค่อารัมภบทยังไม่ได้เริ่มสอนก็มีนักศึกษาเข้ามานั่งแล้วนั่งหลับลงไปกับโต้ะ ตนได้บอกกับอาจารย์ท่านนั้นไปว่านี่ล่ะเป็นการส่งสัญญานของปัญหา การที่เด็กเข้ามาหลับในห้องเรียนนั่นสะท้อนให้เห็นว่าเด็กอาจจะขาดการนอนหลับในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเด็กอาจจะ เล่นเกมส์ หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ หรือเที่ยวกลางคืน ฯลฯ อาจะจะส่งผลกระทบต่อปัญหาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ ปัจจุบันในหลายมหาวิทยาลัยเริ่มที่จะมีกิจกรรม homeroom สร้างระบบการให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาแต่เนิ่น ๆ
แน่นอนว่ากรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ปัญหา โดยในวันที่ 29 เม.ย. 2562 จะมีการจัดสัมมนาร่วมกับมหาวิทยาลัยรวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วประเทศ เพื่อการพัฒนาและวางระบบการดูแลช่วยเหลือในกลุ่มนักศึกษา จึงขอเชิญชวนมหาวิทยาลัยที่สนใจเข้าร่วมพัฒนาระบบเพื่อป้องกันการสูญเสียดังกล่าว ท้ายที่สุดปัญหาการฆ่าตัวตายเป็น Tips of Iceberg เขาเพียงแค่อยาก "ออกจากความเจ็บปวด" เปรียบเทียบได้กับภูเขาน้ำแข็งที่ด้านล่างมีการสะสมของความเครียดจากหลากหลายปัญหาและอาจมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย หากจะแก้ไขปัญหาต้องตระหนักภูเขาน้ำแข็งทั้งลูก ฉะนั้นการที่บุคคลจะตัดสินใจมาจากหลากหลายสาเหตุ สื่อไม่ควรระบุเพียงสาเหตุง่าย ๆ เพียงสาเหตุเดียว ซึ่งการพาดหัวข่าวของบ้านเราพาดหัวข่าวเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งการนำเสนอข่าวแบบนี้มีความเสี่ยงในกลุ่มคนที่มีปัญหาแบบเดียวกันต่อการฆ่าตัวตายซ้ำ ภาษาทางจิตวิทยาเรียกว่าCopy Cat.