"ฝนหลวง"ขึ้นบิน5หน่วยช่วยพื้นที่การเกษตรในหลายจว.
การเมือง

พื้นที่ภาคเหนือ คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ บริเวณ จ.เชียงใหม่ ลำปางและแพร่ ส่วนที่ จ.แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา และเชียงราย อยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากยังมีจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ภาคเหนือบริเวณจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและพะเยา รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านบางส่วนกระจายเพิ่มขึ้นอยู่ค่อนข้างมาก และจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 57% (ร้องกวาง) 38% (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 40% (ร้องกวาง) 14% (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 1.3 (ร้องกวาง) 3.3 (อมก๋อย) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.พิษณุโลก และหน่วยฯ จ.เชียงใหม่ จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่าบริเวณ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พะเยา น่านและแพร่ พื้นที่ลุ่มรับน้ำ อ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง และพื้นที่เสี่ยงขาดแคนน้ำอุปโภคบริโภค อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกณฑ์คุณภาพอากาศเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพใน จ.เลย และอุบลราชธานี และจากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 38% (บ้านผือ) 81% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 33% (บ้านผือ) 61% (พิมาย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.4 (บ้านผือ) -0.6 (พิมาย)

หน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครราชสีมา จึงขึ้นบินปฏิบัติการพื้นที่ประสบภัยแล้ง และพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค จ.ศรีสะเกษ ส่วนหน่วยปฏิบัติการฯ จ.อุดรธานี ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นปฏิบัติการเติมน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนห้วยหลวง และพื้นที่เสี่ยง ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค อ.สีชมพู อ.ชุมแพ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น และมหาสารคาม สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 41% (พนม) 45% (ปะทิว) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 41% (พนม) 39% (ปะทิว) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.5 (พนม) -1.8 (ปะทิว) หน่วยปฏิบัติการฯ หัวหิน หน่วยฯ จ.สงขลา และหน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง ป่าพรุบาเจาะ พื้นที่การเกษตร อ.กระทู้ จ.ภูเก็ต อ.ปราณบุรี อ.สามร้อยยอด อ.กุยบุรี อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.แก่งกระจาน อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี พื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน พายุลูกเห็บ และภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย.