ข่าว"มูลนิธิข้าวขวัญ"จ่อประชุมกำหนดทิศทางยาจากกัญชา - kachon.com

"มูลนิธิข้าวขวัญ"จ่อประชุมกำหนดทิศทางยาจากกัญชา
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 14 เม.ย. จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกค้นและจับกุมกัญชาในมูลนิธิข้าวขวัญ ที่มีนายเดชา ศิริภัทร เป็นประธาน เนื่องจากเชื่อว่าการมีกัญชาไว้ในครอบครองนั้นเพื่อเป็นการค้นคว้าและรักษาผู้ป่วยนั้น ล่าสุดนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เปิดเผยว่า หลังจากตนได้เข้าพบและพูดจาทำความเข้าใจกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ตนก็พ้นข้อกล่าวหา รวมทั้งโครงการน้ำมันกัญชายังได้รับการสนับสนุน ถือว่าได้เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เพราะนอกจาก ป.ป.ส.จะเข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการและไม่มีการจับกุม พร้อมทั้งแนะนำช่องทางในการแจกจ่ายยาแก่ผู้ป่วยแบบถูกกฎหมายโดยให้ดำเนินการในรูปแบบของงานวิจัยแล้ว ยังให้การสนับสนุนโครงการโดยจะนำกัญชาของกลางที่ได้จากการจับกุมมาให้ทางมูลนิธิฯใช้ในการผลิตน้ำมันกัญชา ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตยา และทำให้สามารถคัดเลือกกัญชาที่คุณภาพดีได้ ขณะเดียวกันเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมายตนก็ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขว่าจะไปยื่นขอขึ้นทะเบียนแพทย์พื้นบ้าน ที่กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ ซึ่งต่อจากนี้คนไทยคงได้เห็นผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาถูกพัฒนาไปอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะแค่การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ที่สำคัญผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงยาได้ในราคาที่เหมาะสม ปราศจากการผูกขาดจากกลุ่มทุนที่กอบโกยผลกำไรจากความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยที่ยากไร้

“ผมว่าพลังที่สั่นสะเทือนรัฐบาลมี 2 อย่างคือ พลังภาคประชาชน ซึ่งเขาเชื่อว่ารัฐบาลอาจรู้เห็นกับการสั่งจับมูลนิธิข้าวขวัญ จึงมีปฏิกิริยาที่รุนแรง ถ้านายกฯไม่มีคำสั่งลงมาก็อาจเกิดปัญหาบานปลายได้ และพลังของ อ.ยักษ์ หรือ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตฯซึ่งเอาตำแหน่งเป็นประกันให้ผม และท่านประกาศว่าจะลาออกหากผมถูกดำเนินคดี ซึ่งหาก อ.ยักษ์ลาออก คงส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลอย่างมาก ท่านนายกฯจึงต้องรีบสั่งการให้ยุติเรื่องนี้” นายเดชา กล่าว


โดยนายเดชา กล่าวอีกว่า หลังจากช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีประชุมหารือเพื่อวางแนวทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา ระหว่างตัวแทนมูลนิธิข้าวขวัญ ,องค์กรเภสัชกรรม ,โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ,คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น , คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต , มูลนิธิชีววิถี , มูลนิธิสุขภาพไทย และ ป.ป.ส. เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชา รวมถึงข้อปฏิบัติต่างๆ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะนำศักยภาพและความเชี่ยวชาญของตนเองมาใช้ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ จึงเชื่อว่าจากความร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาของไทยเติบโตก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยอย่างเต็มที่

นายเดชา กล่าวอีกว่า มูลนิธิข้าวขวัญจะเน้นในเรื่องการดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิของเกษตรกรซึ่งเป็นผู้รวบรวมสายพันธุ์กัญชาของไทย เมื่องานวิจัยผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชานำไปสู่การจดสิทธิบัตร เจ้าของสายพันธุ์ก็จะได้รับการคุ้มครองด้วย ส่วนมูลนิธิสุขภาพไทยจะดูแลในเรื่องเครื่องข่ายหมอพื้นบ้าน ซึ่งจะมีการประสานงานให้บรรดาหมอพื้นบ้านเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการครอบครอง ผลิต และใช้ผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาอย่างถูกต้องชัดเจน ขณะที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสนใจเกี่ยวกับการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาสายพันธุ์ไทย รวมทั้งความร่วมมือทางวิชาการอื่นๆ ด้านคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษารวบรวมเรื้องการใช้ประโยชน์กัญชาเพื่อการแพทย์ทั้งจากงานวิจัยในต่างประเทศและจากภูมิปัญญาการแพทย์ของไทย ส่วนโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะร่วมกับมูลนิธิข้าวขวัญในการวิจัยเกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์


ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยมจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 เม.ย. หลังจากที่นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ขึ้นทะเบียนหมอพื้นบ้านเรียบร้อยแล้ว มูลนิธิข้าวขวัญ มูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายที่สนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชา จะร่วมกันแถลงถึงแนวทางปฏิบัติของหมอพื้นบ้านเกี่ยวกับสิทธิในการครอบครองและผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาเพื่อให้หมอพื้นบ้านทั่วประเทศที่มีความสนใจในการใช้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชามีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกรอบกฎหมาย.