ข่าวลุยทำฝนหลวงทุกภาคทั่วประเทศแก้ฝุ่น-แล้ง - kachon.com

ลุยทำฝนหลวงทุกภาคทั่วประเทศแก้ฝุ่น-แล้ง
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 8 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรของ จ.นครสวรรค์ ลพบุรี กาญจนบุรี อุดรธานี สกลนคร สุรินทร์ ระยอง จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ และอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำลาด รวมถึงช่วยยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บบริเวณพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และสกลนคร

รองอธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวว่า แผนปฏิบัติการฝนหลวงในวันนี้ ด้านพื้นที่ภาคตะวันออก จากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 66% ขึ้นปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง และ อ.โป่งน้ำร้อน อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ด้านพื้นที่ภาคกลาง ได้บินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร อ.ด่านมะขามเตี้ย อ.เมืองกาญจนบุรี อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี อ.วังม่วง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี และ อ.พัฒนานิคม อ.ท่าหลวง อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี พื้นที่ภาคเหนือคุณภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ บริเวณ จ.ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ ขณะเดียวกันที่ จ.แม่ฮ่องสอน น่าน และเชียงราย อยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากยังมีจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ภาคเหนือบริเวณจ.เชียงราย ขณะเดียวกันในประเทศเพื่อนบ้านบางส่วนก็เริ่มลดลงจากเมื่อวานค่อนข้างมาก และจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ ร้องกวาง จ.แพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 61% (ร้องกวาง) 25% (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 28% (ร้องกวาง) 18% (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 0.0 (ร้องกวาง) 6.9 (อมก๋อย) โดยหน่วยปฏิบัติการฯ จ.พิษณุโลก จะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองจังหวัดน่าน และหน่วยฯ จ.เชียงใหม่ จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันบริเวณ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอนและพะเยา

นายปนิธิ กล่าวต่ออีกว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกณฑ์คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี จากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมายจ.นครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 73% (บ้านผือ) 70% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 61% (บ้านผือ) 52% (พิมาย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.4 (บ้านผือ) -2.7 (พิมาย) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.อุดรธานี และ จ.นครราชสีมาจึงขอขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของจังหวัดศรีษะเกษ ร้อยเอ็ด สกลนคร อุดรธานี มหาสารคามและตอนล่างของ จ. นครราชสีมา รวมถึงพื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนห้วยหลวง สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 44% (พนม) 63% (ปะทิว) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 49% (พนม) 56% (ปะทิว) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -3.0 (พนม) -4.2 (ปะทิว) หน่วยปฏิบัติการฯ หัวหิน หน่วยฯ สงขลาและหน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี จึงขอขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร อ.แก่งกระจาน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี อ.หัวหิน อ.เมือง อ.กุยบุรี อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ภูเก็ต กระบี่ พังงา สงขลา นราธิวาส สุราษฎร์ธานีและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าพรุโต๊แดง ป่าพรุบาเจาะ.