เมื่อวันที่ 16 เม.ย. เวลา10.30น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 62 เปิดเผยว่าศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 หรือ ศปถ. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เม.ย.62 ซึ่งเป็นวันที่ 5 ของการรณรงค์”ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” พบว่าเกิดอุบัติเหตุ 472 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 54 ราย ผู้บาดเจ็บ 494 ราย รวม 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 – 15 เม.ย. 62 เกิดอุบัติเหตุ 2,702 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 297 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,807 คน ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตตายเป็นศูนย์ มี 8 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 104 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 14 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 104 คน

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 40.68 ขับรถเร็ว ร้อยละ 27.54 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.85 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 67.16 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.92 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.23 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 32.42 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 23.36 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,040 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,308 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 1,092,735 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 235,383 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 64,926 ราย ไม่มีใบขับขี่ 57,452 ราย

นพ.สุขุม กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ได้มีการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ โดยการให้เป่าทางลมหายใจและในส่วนของผู้ที่ไม่สามารถเป่าได้ก็จะใช้วิธีการเจาะเลือด ซึ่งตั้งแต่วันที่ 11 -15 เม.ย. มีผู้ขับขี่ที่ถูกส่งไปเจาะเลือดแล้วทั้งหมด 1,814 รายในจำนวนนี้มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 51 และในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีพบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดถึงร้อยละ 33 ขณะเดียวกันได้ดำเนินคดีกับสถานประกอบการและร้านค้าที่ทำผิดกฎหมายรวมทั้งสิ้น 1,300 1 ครั้ง โดยพบการกระทำความผิดขายนอกเวลา โฆษณาส่งเสริมการตลาด และขายในพื้นที่ห้ามขาย โดยเฉพาะการจำหน่ายสุราให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ที่มีอาการมึนเมา ดังนั้นร้านค้าต้องไม่ขายสุราให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีและผู้ที่เมาสุรา ไม่ขายในสถานที่ห้ามขายและไม่ขายนอกเวลา เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุช่วงทางบนท้องถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์
"กระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้การดูแลประชาชนที่เดินทางกลับจากภูมิลำเนาและกลับจากการท่องเที่ยวตลอด 24 ชั่วโมง โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร และจิตอาสา โดยย้ำว่า ผู้ขับขี่สาธารณะต้องมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นศูนย์คือต้องห้ามดื่มอย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกันเดียวกันกระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมความพร้อมทั้งในด้านบุคลากรแพทย์และพยาบาลขึ้นเวรเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงเตรียมเวชภัณฑ์และเลือดเกิน 110 เปอร์เซ็นต์ เพื่อดูแลประชาชน"นพ.สุขุม กล่าว

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามช่วงนี้ต้องระมัดระวังเรื่องการดื่มสุราแล้วบุกเข้ามาภายในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการรบกวนการทำงานของบุคลากรและอาจ ทำให้คนป่วยได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้อีกด้วย จึงต้องขอความเห็นใจและกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองตำรวจและอัยการ อย่างไรก็ตามในการป้องกันผู้เมาสุราบุกรุกนั้น ไม่สามารถปิดโรงพยาบาลห้ามไม่ให้คนเข้ามาได้ แต่มีการเน้นเรื่องการดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยการล็อคประตู และเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นการปกป้องเจ้าหน้าที่และปกป้องผู้ป่วย.