ค้านรัฐบาลแห่งชาติผิดหลักปชต.-แนะ3ทางออกแก้วิกฤตชาติ
การเมือง
-
สนับสนุนเนื่อหา
-
เมื่อวันที่ 16 เม.ย.นายรยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวแสดงความคิดเห็นถึงกระแสเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ ที่มีหลายฝ่ายเสนอ ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การเมืองไทยดูแล้วมองไม่เห็นทาง ว่าจะเดินต่อไปได้อย่างไร มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดเดทล็อคทางการเมือง จากปัญหาของกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ อันเกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่วางกลไก กับดักเอาไว้ รวมถึง หลายๆอย่างของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้เจือจางความเป็นประชาธิปไตย ของประเทศไทยลงไปอีก ทำให้ในช่วงนี้ หลายฝ่ายออกมาเสนอทางออก โดยหนึ่งในข้อเสนอนั้นคือ รัฐบาลแห่งชาติ
นยรยุศด์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัว ตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เนื่องจากผิดหลักการประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ต้องมาจากประชาชน และจากการเลือกตั้งเท่านั้น การที่มีผู้เสนอนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น ตนไม่แน่ใจว่าท่านเหล่านั้นใช้หลักคิดหรือตรรกะอะไร เพราะนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น คงจะไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชนทั้งในและต่างประเทศ แล้วเช่นนี้จะเข้ามาแก้ปัญหาและบริหารประเทศได้อย่างไร และที่สำคัญประเด็นที่ตนมีความกังวลคือ กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น ใครจะเป็นเจ้าภาพ ใครจะเป็นผู้ริเริ่ม และการได้มาซึ่ง นายกรัฐมนตรี และครม.นั้นจะมีหลักเกณฑ์ในการสรรหาอย่างไร เพราะเราก็ไม่ได้มีตัวบทกฎหมายรองรับในเรื่องนี้เอาไว้ ส่วนรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่มีบางฝ่ายเสนอมาก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวไม่ได้มาจากยินยอมพร้อมใจของประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นตนจึงมองว่าแม้การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติจะสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองในระยะสั้นได้ แต่กระบวนการได้มาซึ่งรัฐบาลแห่งชาตินั้น ยังเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญของฝ่ายที่เสนอแนวคิดนี้ต้องออกมาอธิบายให้สังคมเข้าใจว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะไม่เพียงขัดหลักการประชาธิปไตย ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐาน และประเพณีการปกครองที่ทำให้ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศเจือจางถดถอยไปอีก
นายรยุศด์ ยังกล่าวอีกว่า ตนยังคิดว่าการเมืองไทยตอนนี้ยังไปไม่ถึงทางตัน หากทุกฝ่าย ทุกพรรคการเมือง ยอมเสียสละ และถอยกันคนละก้าวเพื่อบ้านเมือง ซึ่งตนขอเสนอให้พรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกินกึ่งหนึ่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งควรจะเป็นพรรคอันดับ 1 ก่อนหากไม่สำเร็จก็เป็นพรรคอันดับ 2 และไม่ว่าพรรคใดรวบรวมเสียงได้ ตนเชื่อว่า ส.ว. ทั้ง 250 คน จะไม่ใช่ปัญหาในการโหวตเลือกนายกฯ ไม่เช่นนั้นก็จะต้องถูกกดดันอย่างหนักจากสังคม และอนาคตทางการเมืองของ ส.ว.เหล่านั้นก็คงจบไม่สวย
“รัฐบาลใหม่ไม่ว่าพรรคใดจะเป็นแกนนำก็ตามต้องประกาศภารกิจสำคัญ3อย่างคือ1.ประกาศระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลให้ชัดเจนซึ่งไม่ควรจะเกิน1ปี และต้องกำหนดวันเลือกตั้งครั้งต่อไป 2.ต้องแก้ไขกติกาและกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและยอมรับกับทุกฝ่าย และ3.รัฐบาลต้องไม่อนุมัติงบประมาณที่มีผลผูกพันระยะยาว หรือโครงการใหญ่ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ พร้อมทั้งไม่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทุกระดับเพื่อสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง ซึ่งข้อเสนอทั้ง3ข้อ ดังกล่าวอาจจะฟังดูเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่หากทุกฝ่าย ทุกพรรคการเมืองมองเห็นแล้วว่า อนาคตทางการเมืองจากนี้ไปจะต้องเจอกับวิกฤตแล้วทำไมเราต้องเดินต่อไปเมื่อรู้ว่าจะต้องเจอปัญหาและวันนี้ประเทศชาติก็บอบช้ำมานานมากแล้วเช่นกัน”รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าว.