ข่าว"อดีตกกต."ห่วงศาลรธน.อาจไม่รับตีความสูตรปาร์ตี้ลิสต์ - kachon.com

"อดีตกกต."ห่วงศาลรธน.อาจไม่รับตีความสูตรปาร์ตี้ลิสต์
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่16เม.ย.นายสมชัย จึงประเสริฐ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงปัญหาในการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่า การนำเสนอวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ผ่านมา อาจจะไม่สอดคล้องกับวิธีการที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดวิธีคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อไว้ 2 วิธี โดยวิธีแรก เป็นวิธีการคำนวณตามปกติ โดยจะคำนวณตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91(3) ซึ่งกำหนดให้เอาจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคลบด้วยจำนวน ส.ส.แบ่งเขต ก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามแบบปกติ ส่วนรูปแบบที่สอง เป็นวิธีการคำนวณในกรณีมีพรรคการเมืองบางพรรคได้จำนวน ส.ส.เขตเกินกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี หรือโอเวอร์แฮงค์ โดยจะคำนวณตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128(5) ทั้งนี้การคำนวณของหลายฝ่ายที่ผ่านมามีการนำเอารูปแบบที่ 1 ไปคำนวณรวมกับรูปแบบที่ 2 การเอาทั้ง 2 รูปแบบ มารวมกันจึงทำให้เกิดความมั่ว และอาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีการนำคะแนนดิบไปคำนวณจึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน ทั้งที่จะต้องนำแค่บัตรดีเท่านั้นไปคำนวณ

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ในการคิดคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อตามอัตราส่วนตามกฎหมายกำหนด คือ นำเอาคะแนนบัตรดีรวมจากทุกพรรคการเมืองนำมาหารด้วย 500 จากนั้นจะได้ผลลัพธ์เป็นค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คน และนำค่าเฉลี่ยดังกล่าวมาหารคะแนนที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้รับเลือกตั้งทั่วประเทศ จะได้จำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค แต่เมื่อเกิดโอเวอร์แฮงค์จะหักลบจำนวน ส.ส.พึงมีตามรูปแบบที่ 1 ไม่ได้ เพราะจะต้องนำคำนวณตามรูปแบบที่ 2 โดยนำ ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้พรรคที่ได้จำนวนส.ส.เขตต่ำกว่า ส.ส.พึงมี แต่ต้องไม่ทำให้พรรคการเมืองนั้นได้จำนวน ส.ส.เกินกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี ซึ่งในส่วนนี้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนไม่ถึงค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คน จะถือว่าเป็นพรรคการเมืองสอบตก และไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้จะมีค่าทศนิยมที่มากกว่าพรรคอื่นๆก็ตาม แต่หากจัดสรรให้พรรคเหล่านี้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128(4) อย่างไรก็ตามการไม่จัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน จะไม่ถือว่าคะแนนเสียงตกน้ำ เพราะคะแนนทั้งหมดถูกนำมาคำนวณแล้ว แต่เมื่อพรรคเหล่านี้สอบตก ก็จะต้องไปจัดสรรให้พรรคอื่นที่มีคะแนนเกินค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คน ทั้งนี้จากการคำนวณในเบื้องต้น ตนคิดว่าจะมีเพียง 16 พรรคเท่านั้น ที่จะได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเชื่อว่าหากคิดคำนวณตามที่กฎหมายกำหนด

เมื่อถามว่า ถึงกรณีที่ กกต.ชุดปัจจุบันยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสมชัย กล่าวว่า ในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่ง กกต.ก็เคยมีกรณีที่ กกต.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ปรากฏว่าไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาและศาลรัฐธรรมนูญตอบกลับมาว่าไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. ซึ่งในกรณีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหากไม่เข้าเงื่อนไข ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจจะไม่รับเรื่องไว้พิจารณา หรือหากศาลรัฐธรรมนูญอายากช่วย กกต. ในกรณีดังกล่าว ก็อาจจะมีการรับเรื่องไว้ จากนั้นก็มีคำวินิจฉัยว่าเนื้อหาเกี่ยวกับการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และก็ตีกลับเรื่องให้ กกต. แต่อาจจะไม่ตีความชัดว่าการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อควรคำนวณอย่างไร เพราะอาจจะเกินอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามกฎหมาย อย่างที่ตนแนะนำน่าจะเป็นทางออกในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้.