ข่าวจวก"ชูวิทย์"ใส่ร้าย"ปชป."ไม่เข้าใจหลักเสรีภาพการแสดงความเห็น - kachon.com

จวก"ชูวิทย์"ใส่ร้าย"ปชป."ไม่เข้าใจหลักเสรีภาพการแสดงความเห็น
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่16 เม.ย.นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย วิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์หลากหลายประเด็นนั้น  พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกพรรคในการเสนอความเห็นในนามส่วนตัว การเสนอความเห็นที่แตกต่างไม่ใช่ความแตกแยก และเมื่อมีมติพรรค ทุกคนต้องปฏิบัติตาม นี่คือความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค การที่คุณชูวิทย์บอกว่าพรรคประชาธิปัตย์เละเป็นโจ๊ก โดยยกประเด็นความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านหรือเป็นรัฐบาลแห่งชาติจึงเป็นข้อสรุปที่ไม่เข้าใจความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคประชาธิปัตย์ และไม่เข้าใจหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  อีกทั้งพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีใครเป็นเจ้าของถูกต้องแล้ว และทุกคนต้องฟังคำสั่งจากหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค การบริหารพรรคมีระบบบริหารจัดการและโครงสร้างการทำงานรวมทั้งสายการบังคับบัญชา มีธรรมนูญพรรคเป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่มีภาวะแบบที่นายชูวิทย์วิจารณ์ว่าไม่มีใครสั่ง หรือต่างคนต่างสั่ง แต่นายชูวิทย์ต้องแยกให้ออกระหว่างความแตกต่างเรื่องความคิดเห็นกับการออกคำสั่ง มิฉะนั้นข้อวิจารณ์ของนายชูวิทย์จะสร้างความสับสนให้กับผู้อ่าน 

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นคนรุ่นใหม่นั้น พรรคให้ความสำคัญและส่งเสริมมานานแล้ว เรียกว่ายุวประชาธิปัตย์ ปัจจุบันเป็น "นิวเดม”(New Dem)" มีคนรุ่นใหม่ได้รับคัดเลือกให้ลงสมัครส.ส.แบบเขตและบัญชีรายชื่อจำนวนไม่น้อย อีกทั้งในการประชุมใหญ่เมื่อเดือน พ.ย.2561 ได้เลือกคนรุ่นใหม่หลายคนเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และตนเชื่อว่าในการประชุมใหญ่พรรคเดือนพ.ค.เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ คงมีคนรุ่นใหม่สมัครและจะได้รับเลือกเพื่อช่วยบริหารพรรคหลายคน 

นายอลงกรณ์  กล่าว่า สำหรับการจะร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้น ขึ้นกับการตัดสินใจของที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคกับส.ส.ซึ่งสมาชิกต้องเคารพมติพรรค และตนเชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะแต่ละคนที่เป็นแกนนำต่างยืนยันที่จะยอมรับมติพรรค  ส่วนประเด็นที่นายชูวิทย์บอกว่ามีการทะเลาะกันในพรรค เล่นกันถึงตาย แต่บอกว่าเป็นแค่ความคิดเห็นที่แตกต่าง ทั้งที่พวกไม่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้ลงสมัครส.ส.บ้าง หรือบางคนได้ลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับท้ายๆ นั้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงที่ว่าปัญหาการแข่งขันภายในพรรค ทำให้มีอดีตส.ส. 2-3 คนในทีมที่แข่งขันกับนายอภิสิทธิ์ไม่ได้ลงสมัครส.ส.ระบบเขต โดยไปลงบัญชีรายชื่อแทน แต่เมื่อเทียบกับจำนวนผู้สมัครส.ส.เขต 350 คน ถือว่ามีปัญหาน้อยมาก ดังนั้นคำว่า “เล่นกันถึงตาย”จึงดูรุนแรงเกินไป  ขณะเดียวกันมีผู้สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ถูกจัดไปอยู่ในระบบส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับ ตั้งแต่ 25 เป็นต้นไปเช่นกัน 
    
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า  ทุกคนที่เสนอว่าจะร่วมรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน หรือเสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ เป็นความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรค โดยทั้งหมดยินดีจะปฏิบัติตามมติพรรค นายชูวิทย์จึงควรแยกแยะให้ได้ระหว่างความเห็นของสมาชิกกับความเห็นของพรรค และขณะนี้พรรคยังไม่มีมติในเรื่องนี้จนกว่าจะมีการรับรองผลการเลือกตั้งภายในวันที่ 9 พ.ค.นี้  การที่นายชูวิทย์สรุปว่าพรรคประชาธิปัตย์ทะเลาะกันเรื่องการจะไปร่วมรัฐบาลมากที่สุด จึงเป็นข้อสรุปที่ไม่เป็นธรรมกับพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างยิ่ง  และจากการประชุมภายในของพรรคหลายครั้งทำให้ตนให้ความมั่นใจได้ว่าการพ่ายแพ้ของพรรคเป็นบทเรียนที่ทุกคนในพรรคประชาธิปัตย์เห็นตรงกันว่าจะต้องปฏิรูปพรรคอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ว่าใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่.