ข่าวฝนหลวง8หน่วยขึ้นทำฝนตก20จว. - kachon.com

ฝนหลวง8หน่วยขึ้นทำฝนตก20จว.
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 17เม.ย. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น โดยล่าสุดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ออกประกาศพื้นที่ภัยแล้งเพิ่มเป็น 5 จังหวัด ประกอบด้วยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และนครราชสีมา และพื้นที่ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ ตราด และชลบุรี ซึ่งกรมฝนหลวงฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมวางแผนทำฝนเพื่อช่วยเหลือทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยเมื่อวานนี้ (16 เม.ย. 2562) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 8 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี กาญจนบุรี อุดรธานี นครราชสีมา จันทบุรี และหัวหิน ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง บรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ และยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา จันทบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำทับเสลา อ่างฯ ห้วยใหญ่ และอ่างฯ กระเสียว รวมถึงสามารถยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณ อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์

สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 17 เม.ย. ผลตรวจคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อเวลา 09.00 น. พบว่าบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ในเกณฑ์ดีและดีมาก สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 72% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 64% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -4.5 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี จึงตัดสินใจปฏิบัติการ ภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) พื้นที่เป้าหมาย อ.เขาชะเมา อ.วังจันทร์ จ.ระยอง และภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) โดยมีพื้นที่เป้าหมาย อ.เมือง อ.เขาสมิง จ.ตราด เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งฝั่งภาคตะวันออกต่อไป

ด้านพื้นที่ภาคกลาง ผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 68% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 49% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -3.3 หน่วยฯ จ.กาญจนบุรี จึงขึ้นปฏิบัติการภารกิจที่ ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี - อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี และภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณทิศตะวันออก อ.ห้วยกระเจา อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี ด้านหน่วยปฏิบัติการฯ จ.ลพบุรี เตรียมแผนขึ้นปฏิบัติการในช่วงบ่าย เนื่องจากในช่วงเช้าติดภารกิจภายในสนามบิน จึงไม่สามารถขึ้นปฏิบัติการได้

พื้นที่ภาคเหนือ คุณภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่ จ.เชียงราย ยังอยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 57% (ร้องกวาง) 41% (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 58% (ร้องกวาง) 62% (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.3 (ร้องกวาง) 1.9 (อมก๋อย) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.พิษณุโลก และหน่วยฯ จ.เชียงใหม่ จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร การดับไฟป่าบริเวณดอยจระเข้ อ.แม่จัน จ.เชียงราย การบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง และพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกณฑ์คุณภาพอากาศเริ่มดีขึ้นในหลายจังหวัด โดยที่ จ.อุบลราชธานี อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และจากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 94% (บ้านผือ) 70% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 54% (บ้านผือ) 69% (พิมาย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.8 (บ้านผือ) -3.8 (พิมาย) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.อุดรธานี จึงวางแผนปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณ อ.ศรีธาตุ - อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี และภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณ อ.เกษตรสมบูรณ์ - อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ด้าน หน่วยฯ นครราชสีมา ขึ้นปฏิบัติการในภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณทิศใต้ อ.วังน้ำเขียว - ทิศตะวันออกเฉียงใต้ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคบางส่วนของ จ.นครราชสีมา และภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณทิศใต้ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ - ทิศตะวันออก อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา โดยมีเป้าหมายเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งและพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.นครราชสีมา

และพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 48% (พนม) 62% (ปะทิว) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 59% (พนม) 80% (ปะทิว) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.5 (พนม) -3.5 (ปะทิว) หน่วยปฏิบัติการฯ หัวหิน หน่วยฯ จ.สงขลา และหน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นปฏิบัติการในพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง การช่วยเหลือพื้นที่ป่าพรุ และการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อไป.