ข่าวเซ่น7วันอันตราย386ราย "ลพบุรี-อุดร"แชมป์สูงสุด - kachon.com

เซ่น7วันอันตราย386ราย "ลพบุรี-อุดร"แชมป์สูงสุด
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. เวลา 11.00 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายสุธี มากบุญ  รมช.มหาดไทย ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 กล่าวว่า ในปีนี้ถือว่ามีความพิเศษ ที่พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับสั่งให้นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งจิตอาสาร่วมกันทำงาน ทำให้ภาพรวมการดีมาก ลดการสูญเสียได้มากในปีนี้ สำหรับเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่ 11-17 เม.ย. ที่ผ่านมาทางศปถ. มี 7 มาตรการ ซึ่งดำเนินการอย่างได้ผลดี วันนี้ตัวเลขการสูญเสียลดลงตามนโยบายรัฐบาล คสช. ทหาร ตำรวจ และจิตอาสา  ยอดอุบัติเหตุผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตก็ลดลง สำหรับปีนี้มีรถวิ่งเข้าออกกทม. จำนวนกว่า 7 ล้านคัน ซึ่งมากกว่าทุกปี โดยปัจจัยหลัก 3 ด้านที่ทำให้เกิดอุบัติ ยังคงเป็น 1. ขับรถเร็วเกินกำหนด 2. ดื่มแล้วขับ และ3. การตัดหน้ากระชั้นชิด โดยสามารถตรวจจับได้ 4 ล้านคัน ทั้งนี้เราจะเก็บจุดอ่อนของการทำงานในปีนี้ เพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการด้านกฎหมายว่าจะทำอย่างไรต่อไป เช่น การเมาแล้วขับต้องแก้กฎหมายหรือไม่ การออกใบขับขี่จะต้องมีการปรับแก้กฎหมาย หรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาให้ดำเนินการป็นผลมากขึ้นหรือไม่  

นายสุธี กล่าวว่า  สำหรับข้อมูลสถิติของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 17 เม.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 273 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 30 ราย ผู้บาดเจ็บ 277 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 10 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี 4  ราย  จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 11 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 38.10 และตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 26.74 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.15 รถปิกอัพ 7.42 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 72.89 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 46.15 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 25.64 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 08.01 – 12.00 น. และ 12.01 – 16.00 น. มีค่าเท่ากันร้อยละ 23.81 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,039 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,454 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 981,987 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 210,883 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 55,805 ราย ไม่มีใบขับขี่ 48,183 ราย 

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (11 – 17 เม.ย. 62) เกิดอุบัติเหตุ 3,338 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 386 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,442 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 4 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ พังงา สุโขทัย และอ่างทอง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช (จังหวัดละ 128 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี และอุดรธานี (จังหวัดละ 15 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (136 คน) สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 36.61 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 28.31 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.25 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.15 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.48 ถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.98 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 29.09 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูลของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์พ.ศ. 2561 สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม7 วันตั้งแต่วันที่11-17 เม.ย. 2561 โดยแยกเป็นดังนี้เกิดอุบัติเหตุ 3,724 ครั้งโดยมีผู้เสียชีวิต418 คนและมีผู้บาดเจ็บ 3,897 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดได้แก่นครราชสีมา 20 คนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่เชียงใหม่133 ครั้งและยังเป็นจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด142 คนจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือตายเป็นศูนย์มี4 จังหวัดได้แก่ระนอง, สมุทรสงคราม, หนองคายและหนองบัวลำภูสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดดื่มแล้วขับร้อยละ40.28 ขับรถเร็วเกินกำหนดร้อยละ26.50 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่รถจักรยานยนต์ร้อยละ79.85.