ข่าวยื่นศาลปกครองระงับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์1-7บาท - kachon.com

ยื่นศาลปกครองระงับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์1-7บาท
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ศาลปกครองกลาง นายศรีสุวรรณ  จรรยา  เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมด้วยประชาชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยื่นฟ้องคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางต่อศาลปกครองกลาง  เพื่อให้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2561 ที่ได้อนุมัติให้มีการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสาร  รถโดยสารประจำทางสาธารณะทั้งใหม่และเก่าในหลายๆหมวด  ในอัตราตั้งแต่ 1-7 บาท  โดยให้การปรับราคาขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.นี้ รวมทั้งขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้มติดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยนายศรีสุวรรณกล่าวว่า เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการประกอบกิจการขณะนี้ไม่ได้มีการปรับขึ้น จึงไม่น่าจะเหตุนำมาอ้างในการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารที่ทำให้ประชาชนจะต้องแบกรับภาระเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้ที่ใช้รถสาธารณะจะเป็นคนยากจน หาเช้ากินค่ำ หากปรับขึ้นจะเป็นการสร้างภาระเกินสมควร และขัดมาตรา 9 (1)  พ.ร.บ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2543 อีกทั้งขณะนี้กำลังจะมีรัฐบาลใหม่จึงควรที่จะให้เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณา

ส่วนที่ผู้ประกอบกิจการรถร่วมโต้แย้งว่าหากไม่ให้มีการปรับขึ้นก็จะไม่สามารถนำรถใหม่เข้ามาสู่ระบบได้ เพราะมีต้นทุนสูงนั้น นายศรีสุวรณ กล่าวว่า ขสมก. นำรถใหม่เข้ามาวิ่งในระบบอยู่เป็นระยะทั้งรถดีเซล และรถเอ็นจีวี  จึงไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่จะมาปรับขึ้นทั้งระบบ อย่างที่คณะกรรมการขนส่งกลางออกประกาศ ส่วนกรณีกระทรวงคมนาคมอ้างว่ามีเหตุผลเพียงพอในการปรับขึ้นนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ขอให้นำเหตุผลมาสู้กันในชั้นศาล อย่างไรก็ตามส่วนตัวยังมองว่าเหตุผลหลักก็คือราคาน้ำมันดีเซลที่เป็นต้นทุนหลักของผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการก็ชอบจะพุดว่า ถ้าราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปถึง 30 บาทต่อลิตจะต้องปรับขึ้นอัตราค่าโดยสาร  แต่จนถึงปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 27 บาท ไมได้มีการปรับขึ้นเกิน 30 บาท  จึงไม่น่าจะเป็นเหตุผลในการปรับราคาค่าโดยสาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกัน นายบรรยงค์  อัมพรตระกูล  ประธานสหพันธ์รถเมล์ กทม. และปริมณฑล  และประธานชมรมรถร่วม ขสมก.  ได้เดินทางมารอยื่นศาลปกครองเพื่อคัดค้านคำฟ้องของนายศรีสุวรรณ พร้อมขอความเป็นธรรม โดยระบุเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับขึ้นค่าโดยสาร  เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินการบริการเดินรถสูงเกินรายรับ โดยปัจจุบันมีรถร่วมบริการ NGV วิ่งบริการ 6,000 คัน  แต่สามารถวิ่งให้บริการได้เพียง 1,600 คัน   ส่วนที่เหลือต้องจอดทิ้งไว้ เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายเพียงพอในการซ่อมบำรุง การจ่ายค่าจ้างพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร รวมถึงค่าเช่าสถานที่จอด  ทั้งนี้เห็นว่าการขึ้นค่าโดยสารเพียง 1 บาท ก็ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการรถร่วม  รถเมล์ได้ตั๋ว 400 ใบ ใบละ 9 บาท รวมวันละ 3,600 บาท แต่หากนับรวมค่าบำรุง ค่าซ่อม ค่าพนักงานขับรถ มีค่าใช้จ่ายเกินรายรับแค่ 200 บาท  ทั้งนี้ในอนาคตก็มีแผนจะนำรถเมล์ NGV มาใช้ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4,000 คัน  หากไม่สามารถขึ้นค่าโดยสารที่เหมาะสม ก็จะไม่สามารถนำรถใหม่มาให้บริการได้.