แจง'รถพยาบาล'สังกัด'สธ.'ห้ามซิ่ง! ปัดเกี่ยว"รถกู้ชีพ"
การเมือง

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า จากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2559-2562 พบว่า เกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาล 110 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 318 ราย แบ่งเป็น พยาบาลและบุคลากรในระบบ 129 ราย เสียชีวิต 4 ราย พิการ 2 ราย เป็นผู้ป่วยบนรถ ได้รับบาดเจ็บ 58 ราย เสียชีวิต 3 ราย และเป็นคู่กรณี เสียชีวิต 14 ราย ส่วนใหญ่เกิดขณะส่งต่อผู้ป่วยระหว่างรพ.ถึงร้อยละ 80 จากการวิเคราะห์สเหตุพบว่า 1.ขับรถเร็ว เช่น กรณีส่งต่อผู้ป่วยจากปราจีนบุรีไปอุบลราชธานี และเกิดอุบัติเหตุที่ศรีสะเกษ จากการตรวจ GPS ดูความเร็วล่าสุดก่อนเกิดเหตุสูงถึง 130 กม./ชม. และหลายครั้งที่เกิดเหตุมาจากการผ่าไฟแดง และ 2.ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เพราะบนรถพยาบาลมีเข็มขัดณ ที่จุดคนขับนั่งเพียงจุดเดียว เพราะเหตุนี้ถึงได้ออกกฎห้ามรถพยาบาลขับเกิน 80 กม./ชม. และให้มีเข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีการทำประกันภัยชั้น 1 ครอบคลุมผู้เดินทาง 7 คน หากเกิดเหตุเสียชีวิตจะมีการชดเชยรายล 2 ล้านบาท
นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผอ.สำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) กล่าวว่า การไปช่วยเหลือผู้ป่วยในที่เกิดเหตุ จะมีศูนย์สั่งการโดยพิจารณาว่าจะส่งรถฉุกเฉินระดับใดไปรับผู้ป่วย ซึ่งมี 3 ระดับ คือ 1.รถฉุกเฉินขั้นสูง มีแพทย์ พยาบาล ประจำและอุปกรณ์พร้อม 2.รถฉุกเฉินขั้นพื้นฐาน มีเจ้าหน้าที่ที่รู้เรื่องการกู้ชีพ และ 3.รถกระบะ ที่มูลนิธิต่างๆ ใช้ซึ่งจะมีการควบคุมเวลาว่าจะต้องไปให้ถึงที่เกิดเหตุใน 8 นาที ทั้งนี้ กรณีที่เป็นรถขั้นสูงและขั้นพื้นฐาน ขอยืนยันกับประชาชนว่า ไม่จำเป็นต้องใช้ความเร็วในการขับรถเพื่อรีบกลับมายังโรงพยาบาล เพราะมีการทำห้องฉุกเฉินไปกับรถ และมีการช่วยเหลือตั้งแต่ไปถึงที่เกิดเหตุ ดังนั้น เมื่อมีการดูแลตั้งแต่ที่เกิดเหตุแล้ว การขับรถเร็วนั้นไม่จำเป็น ซึ่งการขับเกิน 80 กม./ชม.และฝ่าไฟแดง ล้วนเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น การรีบเพื่อไปให้ถึงเร็วขึ้น 5-10 นาที ไม่มีผลต่อชีวิตของคนไข้ ถ้ามีการดูแลเหมาะสมตั้งแต่แรกแล้ว.