ข่าวคร.เตือนร้อน-แล้งเสี่ยงเป็นโรคลมแดด แนะงดดื่มแอลกอฮอล์ - kachon.com

คร.เตือนร้อน-แล้งเสี่ยงเป็นโรคลมแดด แนะงดดื่มแอลกอฮอล์
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวชาวจังหวัดสุพรรณบุรีเสียชีวิตในลักษณะนั่งฟุบหน้าบนที่นอน ซึ่งญาติให้ข้อมูลผู้ตายชอบดื่มสุรา ก่อนเสียชีวิต 2-3 วัน บ่นแน่นหน้าอกและเวียนศีรษะเพราะอากาศร้อน ว่า ตนต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้ตาย แต่เรื่องนี้ตนได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ใน 3 เรื่องคือ 1.เป็นผู้ที่ดื่มเหล้าประจำ ต่อเนื่องจนต้องหักดิบหรือไม่ 2.สภาพแวดล้อม หรือบริบทที่เกี่ยวข้อง และ 3. นิยามการเสียชีวิตจากความร้อน ซึ่งมีความแตกต่างกันอยู่ อย่างอาการที่ญาติบอกว่าแน่นหน้าอก เวียนศีรษะก็นับเป็นหนึ่งในอาการของโรคฮีสโตรก แต่ก็เป็นอาการของโรคอื่นๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นถึงต้องมีการสอบสวนโรค

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ปีนี้อากาศทั้งร้อนจัดและแล้ง ซึ่งปกติกลไกร่างกายคนเราสามารถกำจัดความร้อนออกไปได้ หากกลไกตรงนี้เสียไปอาจจะมีปัญหาได้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้กลไกการขับความร้อนของร่างกายเสียไปคือ 1.การอยู่ในที่อากาศร้อนจัด เป็นเวลานานๆ จนร่างกายรับไม่ไหว 2.การรับประทานอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดขยายตัว และขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ ร่างกายอุณหภูมิสูง ดังนั้นขอให้งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งเพื่อหลีกเลี่ยงโรคลมแดด หรือฮีสโตรก เช่น เกษตรกร คนงานก่อสร้าง จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่มีโรคประจำตัว ซึ่งแต่ละคนมีความรุนแรงไม่เหมือนกัน ก็ควรปรึกษาแพทย์ ส่วนกลุ่มที่สภาพร่างกายปกติ ก็ขอให้สวมเสื้อผ้าที่โปร่ง ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีเข้ม สีดำเพราะเป็นสีที่ดูดซับความร้อน และหากเลือกได้ ควรงดเว้นช่วงที่แดดร้อนจัด และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

“โรคลมแดด หรือฮีสโตรกมักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายระบายความร้อนได้ไม่ดี ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัด พอความร้อนระบายออกมาไม่ได้หัวใจจะเต้นเร็ว บางคนความดันโลหิตต่ำลง วิงเวียนศีรษะ เป็นลม และถึงขั้นช็อคเสียชีวิตได้ การดูแลคนกลุ่มนี้ให้พาเข้าที่ร่ม ถอดเสื้อผ้าออกให้เหลือเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ขาหนีบ และศีรษะ รีบนำส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด เรียนว่าเมื่อร่างกายปรับอุณภูมิได้แล้วอาการก็ดีขึ้นไม่มีการสะสมความร้อนในร่างกายเพื่อรอวันประทุในวันถัดๆ ไปแต่อย่างใด” นพ.สุวรรณชัย กล่าว.