จ่อร้องศาลปกครองปมม.44 อุ้มค่ายมือถือ
การเมือง
โดยนายชาญชัย กล่าวตอนหนึ่งว่า การใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เลื่อนการชำระหนี้ของบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3 ราย โดยละเว้นดอกเบี้ย เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชน ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ไม่รู้ว่าเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. คิดอะไรอยู่ตอนลงนามในคำสั่งนี้ ถ้าดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในทีโออาร์ของ 3 บริษัทจะพบว่าเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องคิดค่าโทรตามจริง เก็บไม่เกิน 69 สตางค์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในส่วนของแพคเกจค่าโทรศัพท์ ถ้าดูในใบเสร็จที่เก็บจากประชาชน หากโทรศัพท์เกินเพียง 10 วินาที กลับคิดเป็น 1 นาที แถมยังคิดนาทีละ 1.50 บาทด้วย และถ้าดูกำไรสุทธิของบริษัทเหล่านี้ปีละหลายหมื่นล้านบาท แล้วแบบนี้ยังมาออกคำสั่งมาตรา 44 ช่วยเหลืออีกโดยบอกว่าเพื่อเอื้อ 5 จี ทั้งนี้ ถ้าดูตามรัฐธรรมนูญได้เขียนเกี่ยวกับมารตรา 44 เอาไว้สั้นๆ ว่าให้คงมาตรา 44 ไว้เพื่อการปฏิรูป ส่งเสริมความสมานสามัคคีในชาติ และเพื่อป้องกันเหตุภัยที่ก่อความเสียหายต่อความมั่นคงและราชบัลลังก์ แต่การใช้มาตรา44 ครั้งนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์กับภาคเอกชน ถือว่าไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น บอกเลยว่าเรื่องนี้ไม่จบ นายกฯ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องเตรียมตัวรับผิดชอบด้วย ซึ่งขณะนี้ ตนกำลังรวบรวมข้อมูลในการยื่นร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้เป็นคดีตัวอย่าง
ด้านนายธีรชัย กล่าวว่า การใช้คำสั่งพิเศษเช่นนี้ปกติเมื่อสั่งแล้วก็จบเบ็ดเสร้จในตัว แต่หากอ่านคำสั่ง คสช.ดังกล่าวอย่างละเอียดจะเห็นว่าได้บอกให้กสทช.พิจารณา เหมือนโยนความรับผิดชอบมาให้กสทช. ดังนั้นตนจึงได้ทำหนังสือเตือนไปยังกสทช.แล้วว่าเรื่องของการใช้ดุลยพินิจต้องให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มิฉะนั้น กสทช.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเรื่องนี้เอง.