"หมอระวี"ชี้พปชร.ต้องดึง"ลุงมิ่ง"ร่วมรัฐบาล
การเมือง

เมื่อถามถึงกรณีงูเห่าที่เคยเกิดขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาลหลายๆสมัย นพ.ระวี กล่าวว่า ตนมองว่าอาจจะมีการดึงงูเห่าเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ ลักษณะแบบนี้แล้วไม่ค่อยเป็นผลดี หมายความว่าพรรคพลังประชารัฐ อาจจะต้องดึงงูเห่ามาจาก 5 พรรคที่เหลือ อาจะมาจากพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ หรือมีส่วนหนึ่งของพรรคอนาคตใหม่ หรืออะไรก็ตาม ถ้าดึงงูเห่า 10 เสียง ก็จะเป็นรัฐบาลที่มี 276 เสียง ฝ่ายค้านมี 223 เสียง สำหรับสถานการณ์การเมืองไทยในตอนนี้ คงต้องจับตาไปที่ศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยเรื่อง ส.ส.สัดส่วน ถ้าสมมติการวินิจฉัยออกมาในรูปแบบที่ กกต.เห็นชอบ ก็จะทำให้มีมีเสียงของพรรคเล็กทั้งหมด 13 พรรค ซึ่งจะทำให้เสียงของพรรคพลังประชารัฐมีมากขึ้น แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้อีกแบบหนึ่ง เสียงของฝ่ายนี้ก็จะลดน้อยลง และถ้าสมมุติว่าพรรคพลังประชารัฐทำไม่สำเร็จ เช่น พรรคเศรษฐกิจไม่มาร่วม พรรคประชาชาติไม่มาร่วม พรรคประชาธิปัตย์มีมติออกมาอยู่เป็นกลางๆ ฝ่ายค้านอิสระหรืออย่างไรก็ตาม ทำให้พรรคพลังประชารัฐไม่สามารถรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง หน้าตารัฐบาลก็จะออกไปในอีกรูปแบบหนึ่ง
“ผมคาดว่าหากพลังประชารัฐล้มเหลวในการรวบรวมเสียง ซึ่งหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ไม่มีโอกาสเป็นนายก นั่นอาจจะเกิดรัฐบาลคนกลาง หมายถึง พรรคอันดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย และ พรรคอันดับที่ 2 พรรคพลังประชารัฐ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็เป็นหน้าที่ของพรรคลำดับถัดไป ก็มีพรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย เท่าที่ดูสถานการณ์ตอนนี้ น่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทยร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ถ้า 2 พรรคนี้ที่จับมือเป็นแกนนำรัฐบาลขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่ารัฐบาลคนกลางซึ่งจะต้องเอาทั้ง 2 กลุ่ม หมายถึงว่าเอาทั้งกลุ่มเพื่อไทยและกลุ่มพลังประชารัฐมาร่วมกัน ประกอบด้วย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ส่วนทางด้านพลังประชารัฐ จะมี พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และพรรคเล็กอีก 12 เสียง ต้องรวมทั้งหมด 282 เสียง เหลือพรรคเพื่อไทย และ พรรคอนาคตใหม่ เป็นฝ่ายค้าน 211 เสียง ด้วยกระบวนการนี้ จะเกิดรัฐบาลแบบที่ 3 รัฐบาลคนกลาง มีนายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หรือคนของประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี”นพ.ระวี กล่าว
นพ.ระวี กล่าวต่อว่า ถ้าพรรคพลังประชารัฐไม่ยอม ก็อาจเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ซึ่งคงต้องติดตามว่าจากนั้นจะมีการชุมนุมประท้วงหรือไม่ โดยรัฐบาลอาจอยู่ได้ 6-8 เดือน ถ้ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือมีการผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว รัฐบาลอาจต้องยุบสภา สำหรับแบบสุดท้ายที่มีโอกาสเป็นไปได้ คือการตั้งรัฐบาลแห่งชาติซึ่งรวมทุกพรรคเข้ามาเป็นรัฐบาลร่วมกัน ถ้าผลสุดท้ายทางออกที่ 1-4 เกิดขึ้นไม่ได้ ก็อาจเห็นรัฐบาลแห่งชาติ เกิดขึ้นมาได้แม้หลายพรรคจะไม่เห็นด้วย แต่เป็นรัฐบาลที่มีภารกิจเฉพาะซึ่งต้องมีการตกลงทุกๆพรรค เช่น จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ แก้ตรงหมวดใดบ้าง แก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2561 ในหมวดใดบ้าง ซึ่งอาจมีอายุ 1-2 ปี เพื่อให้ภารกิจเสร็จสิ้น จากนั้นให้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งถือว่าไม่เป็นประตูปิดตาย แม้มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก.