"กฤษฏา"รื้อระบบนมโรงเรียน เน้นช่วยรายย่อย
การเมือง

“การตั้งคณะกรรมการอาหารนมฯ ขึ้นมาใหม่เพื่อดูแลบริหารโครงการ แยกการจัดสรรสิทธิโควตาจำหน่ายนมออกจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ให้กรมปศุสัตว์เป็นเลขานุการมิลค์บอร์ด แทนองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) เปลี่ยนมาใช้ข้อบังคับตามกฏหมายเกษตรพันธะสัญญา จะมีความผิดโทษแรง หากไม่รับซื้อน้ำนมดิบตามสัญญา นอกจากนี้จะใช้บิ๊กดาต้าคุมศูนย์รวบรวมนมดิบ สหกรณ์ ผู้ประกอบการ เกษตรกร โรงเรียน องค์กรท้องถิ่น ต้องลงตัวเลขปริมาณนมที่รับจริงในทุกวัน โดยกรมปศุสัตว์จะจัดทำเชื่อมระบบสารสนเทศแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ได้เห็นตัวเลขแท้จริงของทุกฝ่าย ถ้ามีการตีโป่งตัวเลขนม จะเห็นได้โดยเร็ว”นสพ.สรวิศ กล่าว
นสพ.สรวิศ กล่าวอีกว่า ล่าสุด นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ลงนามในประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการนมโรงเรียน ปีการศึกษา 2562 ซึ่งจะได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนทุกระดับกลุ่มพื้นที่ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดใน 5 กลุ่มจังหวัดที่การเลี้ยงโคนมจำนวนมาก เป็นประธาน เร่งเปิดรับสมัครผู้ประกาศการจำหน่ายนมโรงเรียนระหว่างวันที่ 23-25 เม.ย.นี้ จากนั้นจะสรรสิทธิให้เสร็จภายในวันที่ 29 เม.ย.นี้ แล้วจัดสรรพื้นที่จำหน่ายนมภายในวันที่ 2 พ.ค.นี้ สำหรับการพิจารณาจัดสิทธิให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลุ่มพื้นที่และคณะอนุกรรมการบริหารกลางใช้หลักเกณฑ์ ดังนี้ การกำหนดปริมาณน้ำนมโคที่จะจัดสรรสิทธิการจำหน่ายให้คำนวณปริมาณจากจำนวนนักเรียนที่บริโภคนมโนโครงการให้เป็นไปตามจำนวนนักเรียนที่มีอยู่จริงในแต่ละกลุ่มพื้นที่ในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา โดยคำนวณจากจำนวนวัน 130 วันต่อภาคเรียน คนละ 1 ถุงหรือกล่องต่อวัน (200 มิลลิตร) ทั้งนี้ให้ปรับเพิ่มเพื่อชดเชยการสูญเสียจากกระบวนการแปรรูปประมาณร้อยละ 2 ของปริมาณน้ำนมโครวมที่ใช้ในการผลิตให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมทุกราย
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ส่วนการจัดสรรสิทธิ์โควตานม จะนำประวัติการฝ่าฝืนในภาคเรียนที่ 2/2561 มาประกอบการพิจารณจัดสรรโดยสิทธิที่ได้รับต้องไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของสิทธิเดิมที่เคยได้รับในการจัดสรรในภาคเรียนที่ 2/2561 ให้ลำดับความสำคัญแก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบซึ่งรับน้ำนมดิบจากสมาชิกของตนเอง หรือมีแผนการตลาดรองรับปริมาณน้ำนมดิบตลอด 365 วัน นำข้อมูลปริมาณน้ำนมโค กรณีรับน้ำนมโคจากศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบให้แนบสัญญาซื้อขายระหว่างเกษตรกรกับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมกับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและหรือหนังสือรับรองการใช้น้ำนมโค (แบบ นร.2) หรือ กรณีรับน้ำนมโคจากฟาร์มโคนมโดยตรงให้แนบสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมกับฟาร์มโคนม โดยฟาร์มโคนมต้องได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ (จีเอพี) จากกรมปศุสัตว์ ส่วนกรณีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เคยเข้าโครงการภาคเรียนที่ 2/2561 ยื่นสิทธิมากกว่า 5 ตันจะมีสูตรคำนวณรับรอง เช่นเดียวกับผู้ประกอบการใหม่ที่ไม่เคยเข้าโครงการนมโรงเรียนในเทอม 2/2561
นสพ.สรวิศ กล่าวอีกว่า ในการจัดสรรพื้นที่จำหน่ายนั้น ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิน้อยกว่า 50,000 กล่อง-ถุง/วัน ให้จำหน่ายในพื้นที่ที่ตั้งในจังหวัดนั้นๆ หรือใกล้เคียงก่อน หากมีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ในพื้นที่มากกว่า 1 รายให้จัดสรรสิทธิการจำหน่ายในพื้นที่นั้น โดยเฉลี่ยในจังหวัดนั้นกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เป็นสหกรณ์ขนาดเล็กหรือโครงการพระราชดำริฯ หรือสถาบันการศึกษาหรือผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมเอกชนรายเล็กในพื้นที่ก่อน หากสิทธิในพื้นที่จังหวัดนั้นไม่เพียงพอ ให้พิจารณาสิทธิ์ในพื้นที่ใกล้เคียงให้เพิ่มเติม แต่ถ้ามีสิทธิในพื้นที่คงเหลือ ให้เฉลี่ยปริมาณที่เหลือในพื้นที่ให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมรายอื่นที่ได้รับสิทธิมากกว่า 50,000 กล่อง-ถุงต่อวัน ในกรณีทีมีการจัดสรรสิทธิพื้นที่การจำหน่ายในระดับพื้นที่ 5 กลุ่มให้คณะอนุกรมการบริหารกลางเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด.