"กฤษฎา"เข็นแผนผลิตไข่ไก่ครบวงจร
การเมือง

ทั้งนี้สาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์ไก่ไข่ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2562 – 2566 ที่จัดทำโดยกรมปศุสัตว์ประกอบ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาระบบการจัดการและลดต้นทุนการผลิตซึ่งต้องสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ โดยส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์และสมาคมตามพื้นที่ รวมถึงขนาดการเลี้ยง พัฒนาระบบการบริหารจัดการอุตสาหกรรมไก่ไข่ครบวงจร ให้เกิดสมดุลระหว่างความต้องการของตลาดและปริมาณผลผลิต ส่งเสริมการแปรรูปไข่ไก่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพส่งออก ลดต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่ตลอดสายการผลิต
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิต โดยพัฒนาการผลิตสินค้าไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานครบวงจร กำหนดให้ฟาร์ม ล้ง โรงงานแปรรูป และสถานที่จำหน่ายเข้าสู่มาตรฐาน มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ ส่งเสริมไข่ไก่คุณภาพสูง (Table egg/ Premium egg) ปลอดยา ปลอดเชื้อ ไข่ไก่อินทรีย์ ไข่ไก่เลี้ยงปล่อยอิสระ ปรับระบบการเลี้ยงให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่เหมาะสมเพิ่มขึ้นเพื่อเฝ้าระวังโรคและสารตกค้าง
ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มศักยภาพการตลาด โดยเชื่อมโยงระบบตลาดรองรับสินค้าไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ จับคู่ค้าระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับผู้ซื้อโดยตรง อำนวยความสะดวกทางการค้า เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าในระดับชุมชน ระดับประเทศ และส่งออก เชื่อมโยงระบบตลาดรองรับสินค้าผลพลอยได้ไก่ไข่ได้แก่ ไก่ปลด มูลไก่ และขนไก่ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่สามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยภาครัฐสนับสนุนและส่งเสริมในรูปแบบกลุ่มเกษตรกร
ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคความปลอดภัยอาหารในการบริโภคไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ เช่น รับรองมาตรฐานQ ร้านค้าปศุสัตว์ OK การติดฉลากระบุยี่ห้อ วันผลิต วันหมดอายุ เป็นต้น และยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาองค์ความรู้หรือนวัตกรรมด้านการแปรรูป พัฒนาสายพันธุ์ พัฒนาอาหารสัตว์ และการใช้สมุนไพรเพื่อลดสารเคมี สร้างอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ไข่ไก่แต่ละแหล่งผลิต ทั้งนี้เมื่อ Egg board เห็นชอบ จึงจะนำเสนอครม. พิจารณา เพื่อประกาศใช้ต่อไป.