แล้งพ่นพิษ!เขื่อนใหญ่-กลางวิกฤตน้ำต่ำกว่า30%
การเมือง
นอกจากนี้สถานการณ์น้ำจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขณะนี้พบว่ามีเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ จำนวน 14 แห่ง เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นต้น รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ มีจำนวน 187 แห่ง ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดทุกวันและจะขึ้นปฏิบัติการช่วยเหลือทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย
สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 22 เมษายน 2562 ผลตรวจคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อเวลา 09.00 น. พบว่าบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลหลายแห่งอยู่ในเกณฑ์ดี มีเพียงที่ จ.นครสวรรค์ ยังอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ด้านพื้นที่ภาคตะวันออกจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 82% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 64% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -5.9 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี จึงตัดสินใจปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรสวนผลไม้บริเวณ อ.แกลง อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
ด้านพื้นที่ภาคกลาง ผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 55% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 44% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -3.9 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.กาญจนบุรี จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการในพื้นที่การเกษตรบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.กาญจนบุรี และ จ.สุพรรณบุรี และหน่วยปฏิบัติการฯ จ.ลพบุรี ตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และพื้นที่การเกษตรของ จ.นครสวรรค์ จ.ชัยนาท และ จ.ลพบุรี
พื้นที่ภาคเหนือ คุณภาพอากาศในหลายจังหวัดยังอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากยังพบจุดความร้อนกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนืออยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงจากประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันออกมีการกระจายตัวเพิ่มมากขึ้น ด้านผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 44% (ร้องกวาง) 32% (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 30% (ร้องกวาง) 25% (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 1.3 (ร้องกวาง) -1.3 (อมก๋อย) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.เชียงใหม่ และพิษณุโลก จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากสภาพอากาศในช่วงบ่ายมีการเปลี่ยนแปลง มีเมฆเกิดขึ้น ทั้ง 2 หน่วยปฏิบัติการฯ จะเร่งปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละออง และพื้นที่การเกษตรประสบภัยแล้ง
พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศ จ.ขอนแก่น อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และ จ.เลย อยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และจากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 62% (บ้านผือ) 97% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 38% (บ้านผือ) 54% (พิมาย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 0.7 (บ้านผือ) -1.6 (พิมาย) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครราชสีมา จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคบริเวณ จ.มหาสารคาม จ.บุรีรัมย์ และ จ.นครราชสีมา
และพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 61% (พนม) 63% (ปะทิว) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 21% (พนม) 66% (ปะทิว) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -6.6 (พนม) -4.7 (ปะทิว) หน่วยปฏิบัติการฯ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงขอติดตามสภาพอากาศเพิ่มเติม เพื่อวางแผนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรเป้าหมายบริเวณ จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์.