ข่าวสธ.จัดพื้นที่อุณภูมิสูง40องศาฯขึ้นไปเสี่ยงฮีทสโตรก - kachon.com

สธ.จัดพื้นที่อุณภูมิสูง40องศาฯขึ้นไปเสี่ยงฮีทสโตรก
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในช่วงหลังๆ มานี้ประเทศไทยมีอุณภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เพราะอุณิภูมิร่างกายคนเราปกติจะอยู่ที่ 37.5 องศาเซลเซียส แต่สภาพอากาศเมืองไทยสูงถึง 40 องศาเซลเซียส บางพื้นที่มากกว่านี้ ความทนต่ออุณภมิที่สูงเช่นนี้ของแต่ละคนแตกต่างกัน แต่คนที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลสำหรับอากาศร้อนคือโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก ซึ่งพื้นที่ที่อุณภูมิสูงแตะ 40 องศาฯ ขึ้นไปถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงเหมือนกับที่เราจัดอันดับพื้นที่เสี่ยงที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กพีเอ็ม 2.5 อย่างไรก็ตามถ้าดูที่อัตราการเสียชีวิตจากโรคฮีทสโตรกเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศแล้วถือว่าไม่สูง แต่อย่างไรก็ตาม อยากจะแนะนำประชาชนในการปรับตัวคือหลักเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่แดดร้อนจัดๆ
 
“สำหรับคำแนะนำว่า ควรดื่มน้ำเปล่ามากกว่า 2 ลิตรขึ้นไป ส่วนการดื่มน้ำหวาน หากดื่มเล็กน้อยอาจช่วยให้รู้สึกดี เพราะตามปกติการกินของหวานจะทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่หากดื่มมากเกินไปอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จนเกิดอันตรายได้ในผู้ป่วยเบาหวานและมีโรคประจำตัว และเกิดการปัสสาวะมากขึ้น จนสูญเสียน้ำได้ สำหรับเกลือแร่สามารถดื่มทดแทนการเสียเหงื่อมากได้ แต่ไม่ควรดื่มเกินวันละ 1-2 ขวด” นพ.มานัส กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อน สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค.ของปี 2558-2561 มีรายงานผู้เสียชีวิตที่เข้าข่ายการเฝ้าระวังการเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน จำนวน 56, 60, 24, 18 ราย ตามลำดับ และข้อมูลจากสำนักนโยบายและแผนสาธารณสุข พบว่าระหว่างปี 2557–2560มีจำนวนผู้ป่วยจากภาวะอากาศร้อน เท่ากับ 3,054, 3,523, 4,002, และ 3,409 ตามลำดับ
 
ด้าน นพ.สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคฮีทสโตรกเป็นภาวะวิกฤต ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายจากผลของสภาพอากาศที่ร้อนจัด อาการสำคัญได้แก่ ตัวร้อน อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส อาการสำคัญคือ หน้ามืด เพ้อ กระสับกระส่าย มึนงง หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชักเกร็ง ช็อก จนถึงหมดสติ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง 6 กลุ่ม คือ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง  4.คนอ้วน  5.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ โดยร่างกายของคนอ้วนและผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอจะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม นอกจากนี้ แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้เร็ว  กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
 
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ดังนั้นในช่วงนี้ขอแนะนำประชาชนสวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนานๆ สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง กางร่ม ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก สำหรับวิธีปฐมพยาบาลผู้มีอาการเจ็บป่วยจากอากาศร้อน เบื้องต้นโดยให้ดื่มน้ำเย็นและเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น ให้อยู่ในที่ระบายอากาศที่ดี ถ้ามีอาการรุนแรง หมดสติรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
 
ด้าน พญ.มิ่งขวัญ  วิชัยดิษฐ ผอ.สถานบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นควรระวังโรคผิวหนัง เช่น ผดผื่นคัน เชื้อราในร่มผ้า และกากเกลื้อน ดังนั้นหลังกลับจากนอกบ้านให้รีบอาบน้ำ เช็ดตัวให้แห้ง และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที ส่วนโรคมะเร็งผิวหนังนั้น ยังไม่มีปัจจัยที่ชี้ชัดว่าเกิดจากความรอน แต่ตัวการสำคัญมาจากระยะเวลาการสัมผัสแดดนานๆ เป็นเวลากว่า 10 ปีขึ้นไป รวมถึงสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วยว่าจะมีความสามารถในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในร่างกายได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังพบว่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 จากที่พบผู้ป่วย 100 ราย ก็พบเพิ่มเป็น 110 ราย แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น เพราะการที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นน่าจะมาจากระบบสาธารณสุข และมีการคัดกรองที่พบโรคได้เร็วขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้คนไทยยังเป็นกลุ่มคนผิวสีจึงมีกระบวนการจัดการกับรังสียูวีได้ดีกว่าคนผิวขาว.