รพ.จุฬาฯเจ๋งปั้น'เซลล์นักฆ่า'มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอิลอยด์
การเมือง
นพ.กรมิษฐ์ กล่าวว่า เซลล์นักฆ่าเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งในร่างกาย แต่มีเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้น หน้าที่หลักคือการตระเวรหาเซลล์ที่มีความผิดปกติทางพันธุ์กรรมเมื่อพบแล้วจึงทำการฆ่าทำลายก่อนที่เซลล์นั้นจะพกลายเป็นมะเร็ง ทั้งนี้ ด้วยความสามารถดังกล่าวนักวิทยาศาสตร์จึงได้ศึกษาวิจัยนำเซลล์นักฆ่ามาใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ โดยการนำเซลล์ออกมาเลี้ยงภายนอกร่างกายด้วยอาหารเลี้ยงเซลล์ชนิดพิเศษเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่า จากนั้นทำการตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติมทั้งแง่ของประสิทธิภาพ และความบริสุทธิ์ ก่อนใส่กลับเข้าไปยังผู้ป่วยผ่านทางหลอดเลือดดำ จากการทดลองทางคลินิก พบว่าประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งชนิดก้อนยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคและป้องกันโรคกลับเป็นซ้ำในมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ โดยเฉพาะการใช้เซลล์นักฆ่าจาก พ่อแม่ พี่น้อง หรือลูกที่มีสารพันธุกรรมตรงกันเพียงครึ่งเดียว แต่ถ้าใช้เซลล์นักฆ่าของผุ้ป่วยเองประสิทธิภาพไม่สูง
นพ.กรมิษฐ์ กล่าวว่า รพ.จุฬาฯ เริ่มวิจัยเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันได้มีการใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ ที่ผ่านการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันมาแล้ว กลับมาเป็นซ้ำ และไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน หรือเป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีโรคกลับเป็นซ้ำแต่ไม่สามารถรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกได้ โดยแต่ละคนจะได้รับเซลล์นักฆ่าในจำนวนครั้งที่แตกต่างกัน ซึ่งรายแรกได้รับเซลล์นักฆ่าเพียงครั้งเดียว พอตรวจไขกระดูกก็ไม่พบเซลล์มะเร็งแล้ว ตอนนี้ติดตามจนพ้นระยะ 1 ปีก็ยังไม่พบเซลล์มะเร็งกลับมาอีก ส่วนผู้ป่วยอีก 4 รายบางรายได้รับ2 ครั้งบ้าง 3 ครั้งบ้าง แล้วแต่คน ตอนนี้ยังไม่พ้นระยะ 1 ปี ส่วนผลข้างเคียง มีบ้างเล็กน้อย เช่น ไข้ หนาวสั่น เป็นต้น
เมื่อถามว่าต้องติดตามต่อเนื่องถึงเมื่อไหร่ หรือต้องเพิ่มกลุ่มตัวอย่างอีกเท่าไหร่ ถึงมั่นใจว่าจะสามารถเป็นการรักษามาตรฐานได้ นพ.กรมิษฐ์ กล่าวว่า อย่างรายแรก ก็ต้องติดตามต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี ซึ่ง เป็นไปตามทฤษฎีการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง ส่วนกลุ่มตัวอย่างนั้น ที่จริงมีการวิจัยหลายเฟส ซึ่งจะเพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่างขึ้นไปอีก เป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลา ส่วนการจะให้เซลล์นักฆ่ากับผู้ป่วยที่ยังไม่ผ่านการรักษาด้วยวิธีการใดมาก่อนนั้นเป็นเพียงแนวคิด แต่มีปัญหาว่าคนกลุ่มนี้มีปัญหาสภาพร่างกายไม่แข็งแรง อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 ทางโครงการฯ ตั้งใจจะเริ่มดำเนินโครงการต่อเนื่องเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่าในลำดับต่อไป ขอย้ำว่าทุกอย่างต้องทำภายใต้ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะด้านโลหิตวิทยา อย่าไปหลงเชื่อโฆษณาที่อ้างใช้เซลล์นักฆ่ารักษาได้หลายโรค ซึ่งปัจจุบันเซลล์บำบัดทุกชนิดยังไม่เป็นการรักษาที่มาตรฐาน น่าเป็นห่วงมากที่ตนได้ยินมามีการโฆษณาให้คนไปตรวจการทำงานของเซลล์นักฆ่า หากมีน้อยหรืออ่อนแอก็ให้ไปรับเซลล์เพิ่มเพื่อเป็นการบูทเซลล์ ขอเรียนว่าเซลล์นักฆ่าเมื่อนำกลับเข้าร่างกายก็จะมีอายุเพียงประมาณ 2-4 สัปดาห์เท่านั้น
ด้าน ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ เป็น 1 ใน 4 ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว และเป็นหนึ่งใน 10 โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ป่วยชาวไทย การักษามาตรฐานคือให้ยาเคมีบำบัด และปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่โรคกลับเป็นซ้ำ ทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้ แต่ก็มีมีส่วนหนึ่งกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งเมื่อเป็นซ้ำอีกโอกาสรอดชีวิตเกิน 1 ปีถือว่าน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย แต่จากการศึกษาทางคลินิกในต่างประเทศ โดยให้เซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคมีโอกาสควบคุมโรคได้ถึง 40-80% และยังช่วยลดโอกาสการเป็นซ้ำ สำหรับกลุ่มตัวอย่างรายแรกที่รพ.จุฬาฯ ได้รักษาโดยการให้เซลล์นักฆ่า เป็นหญิงอายุ 52 ปี ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคดังกล่าวเมื่อปี 2560 รักษาด้วยเคมีบำบัด 3 สูตรที่แรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ในไขกระดูก แพทย์จึงปลูกถ่ายไขกระดูกจากพี่สาวให้ แต่หลังจากนั้น 3 เดือน กลับเป็นซ้ำอีก แพทย์ประเมินว่ามีโอกาสตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานต่ำ จึงให้เข้าร่วมโครงการให้เซลล์นักฆ่า โดยใช้เซลล์นักฆ่าของพี่สาว
“วิธีการเริ่มจากการเจาะเลือดผู้บริจาค นำไปแยกเซลล์นักฆ่าและนำไปกระตุ้นเพิ่มจำนวนในห้องปฏิบัติ 2 อาทิตย์ จากนั้นก็ให้ยากดภูมิคุ้มกันผู้ป่วย 3-6 วัน แล้วค่อยนำเซลล์นักฆ่าฉีดให้หลังหยุดยากดภูมิ 1-2 วัน และเฝ้าดูอาการ 24 ชั่วโมง หากไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ ก็กลับบ้านได้ และติดตามการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ซึ่งผู้ป่วยรายแรกขณะนี้หยุดรักษาประมาณ 1 ปีแล้ว ไม่มีอาการแสดงของโรคกลับเป็นซ้ำ ขณะที่อาการต่อต้านหลังรับเซลล์นักฆ่ามีเพียงแผลบริเวณเยื่อบุช่องปากซึ่งสามารถควบคุมอาการได้ด้วยการใช้ยากดภูมิชนิดบ้วนปากเท่านั้น” ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากเตือนคือในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมานี้มีการโฆษณาชวนเชื่อ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และมีการเสนอบริการด้านเซลล์บำบัดในการรักษาโรคต่าง ๆ ผ่านสื่อต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความเข้าใจผิด คลาดเคลื่อน เกิดความคาดหวังที่สูงเกินความเป็นจริง นอกจากเสียทรัพย์สินแล้วบางรายยังเสียชีวิตด้วย โดยมีรายงานว่าพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อหลังรับเซลล์นักฆ่าที่คลินิกเสริมความงามในฮ่องกง 1 ราย แล อีก 3 รายต้องแอดมิทในรพ.