วางแผนทำฝนเติมน้ำในเขื่อน203แห่ง
การเมือง

ด้านพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ออกประกาศ พื้นที่ภัยแล้งจำนวน 5 จังหวัด (13 อำเภอ 39 ตำบล 287 หมู่บ้าน) ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา ตราด และชลบุรี รวมถึงสถานการณ์น้ำจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาต(สทนช.) วันนี้ (23 เม.ย.2562) พบว่ามีเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ จำนวน 14 แห่ง เช่น เขื่อน ป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นต้น และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 187 แห่ง เป็น 189 แห่ง ซึ่งกรมฝนหลวงฯจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดทุกวันและจะขึ้นปฏิบัติการช่วยเหลือทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย
สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 23 เม.ย.ผลตรวจคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อเวลา 09.00 น. พบว่าบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลหลายแห่งอยู่ในเกณฑ์ดี มีเพียงที่ จ.สระบุรี ยังอยู่ในเกณฑ์คุณภาพปานกลาง ด้านพื้นที่ภาคตะวันออกจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 49% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 41% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -4.0 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความชื้นสัมพัทธ์เข้าเกณฑ์ปฏิบัติการฝนหลวง จะปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งทันที
ด้านพื้นที่ภาคกลาง ผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 32% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 56% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 2.3 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ลพบุรีและกาญจนบุรี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่มีปริมาณน้ำ ใช้การต่ำกว่า 30% อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน พายุลูกเห็บ และภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทันที เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทั้งนี้ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ.