ลุยพัฒนายา"เม็ดเวเฟอร์กัญชา" ช่วยคนป่วยเคมีบำบัด
การเมือง


ผศ.ดร.ภญ.สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผอ.สถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ ม.รังสิต ผู้วิจัยการศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งปอดมนุษย์ของสารจากกัญชาในหนูทดลอง กล่าวว่า โรคมะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เนื่องจากธรรมชาติของโรคไม่ตอบสนองต่อการรักษา ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ทีมวิจัยสามารถแยกสารบริสุทธิ์ของกัญชาของกลางจากป.ป.ส. ออกมาได้ ทั้งทีเอชซี ซีบีดี และซีบีเอ็น ซึ่งซีบีเอ็นเกิดจากการเสื่อมสลายของทีเอชซีจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน แล้วนำสารทั้ง 3 ชนิดมาทดสอบกับเซลล์มะเร็งปอดมนุษย์ในหลอดทดลอง พบว่าสารซีบีดี ทำให้ลักษณะของเซลล์มะเร็งเปลี่ยนแปลงไม่มาก จำนวนลดลง แต่สารทีเอชซี และซีบีเอ็น ทำให้เซลล์มะเร็งตาย ถือว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์ในระดับหนึ่ง
ผศ.ดร.ภญ.สุรางค์ กล่าวว่า จากนั้นจึงใช้สาร 3 ชนิดที่มีความเข้มข้นต่างๆ และวัดอัตราการรอดชีวิตของเซลล์มะเร็ง พบว่า ความเข้มข้นสูงสุดของสารทีเอชซี และซีบีเอ็น เซลล์มะเร็งรอดเพียงร้อยละ 20-30 ส่วนสารซีบีดี อัตรารอดชีวิตเซลล์มะเร็งสูงร้อยละ 75 เรียกว่าไม่ค่อยเป็นพิษต่อเซลล์ ดังนั้น จึงนำเฉพาะสารทีเอชซี และซีบีเอ็นไปศึกษาต่อในหนูทดลอง โดยปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งปอดมนุษย์ในหนูทดลอง เมื่อเกิดมะเร็งแล้วแบ่งหนูออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม ให้รับน้ำเกลือ กลุ่มรับทีเอชซี และกลุ่มรับซีบีเอ็น โดยฉีดให้ทุกวันนาน 3 สัปดาห์ ซึ่งสัปดาห์แรกขนาดก้อนมะเร็งแต่ละกลุ่มไม่ต่างกันมาก พอสัปดาห์ที่สองพบว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับสาร ก้อนมะเร็งโตขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกลุ่มรับทีเอชซีและซีบีเอ็นก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง โดยผลไม่ต่างกันมากระหว่างสารทีเอชซี 3 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับ ซีบีเอ็น 8 มิลลิกรัม ดังนั้นการวิจัยนี้สารทีเอชซีและซีบีเอ็น ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

ด้าน ภก.เชาวลิต มณฑล ผู้วิจัยยาเม็ดเวเฟอร์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา กล่าวว่า สารสำคัญของกัญชาสามารถดูดซึมทางช่องปากโดยไม่ต้องรับประทาน จึงได้พัฒนายาเม็ดที่ส่งสารสำคัญทางเยื่อบุช่องปากได้ ในรูปแบบยาเม็ดเวเฟอร์ ที่มีความเปราะ มีรูพรุนคล้ายฟองน้ำ ดูดซึมน้ำได้เร็ว ยาแตกตัวได้อย่างรวดเร็ว ข้อดีของยาเม็ดเวเฟอร์ใช้ช่องปากคือ ไม่ต้องรับประทานน้ำแล้วกลืน ช่วยให้คนไข้มะเร็งที่รับยาเคมีบำบัด เยื่อบุช่องปากอักเสบกลืนยาได้ยาก สามารถรับยาได้สะดวกขึ้น เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันการแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การพัฒนากัญชาและสารสกัดจากกัญชานี้ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ในการปลูกกัญชาต่อไปในระดับเกษตรกร และยังจะถูกนำไปใช้ทางการแพทย์ที่พุ่งเป้ารักษาโรค โดยใช้ประโยชน์จากสารสำคัญในกัญชา ซึ่งเป็นในส่วนของแพทย์แผนปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็เกิดตำรับยาไทยใหม่ ในสมัยรัชกาลที่10 ครั้งแรก หลังจากที่ตำรับยาแผนไทยล่าสุดมีเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5.