ข่าวองค์การเภสัชฯยันเร่งผลิตสารสกัดกัญชาให้ทันใช้ - kachon.com

องค์การเภสัชฯยันเร่งผลิตสารสกัดกัญชาให้ทันใช้
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแจ้งการขอครอบครองกัญชา ว่า ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา มีผู้แจ้งครอบครองแล้วโดยแบ่งเป็นกลุ่ม หน่วยงานของรัฐ มหาวิทยาลัย 19 ราย กลุ่มผู้ป่วยที่ใช้กัญชารักษาโรค 6,395 ราย และกลุ่มบุคคลอื่นๆ 1 รายที่เข้ามาแจ้ง ทั้งนี้ จะมีการรวบรวมข้อมูลใหม่อีกในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม ขอให้กลุ่มที่เข้าข่ายตามกฎหมายรีบมาแจ้งการครอบครองซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 19 พ.ค.นี้ หากเกินกำหนดจะไม่สามารถมาแจ้งได้อีก ส่วนผู้ป่วยสามารถขอใช้กัญชาทางการแพทย์ออกไปได้อีกประมาณ 90-180 วัน แล้วแต่ความเหมาะสม  สิ่งสำคัญขอให้รีบมาแจ้งการครอบครอง เพราะข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ในการผลิตยาสำรองสำหรับผู้แจ้ง โดยจะมีการหารือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในเรื่องนี้ต่อไป
 
นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลว่าสารสกัดกัญชาจะไม่เพียงพอ เรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือแพทย์ที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ และวัตถุดิบในการผลิตนั้น ซึ่งวันที่ 29-30 เม.ย.จะมีแพทย์ที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์โดยกรมการแพทย์ ประมาณ 200 คนออกมารุ่นแรก ซึ่งอย.ได้ขอให้กรมการแพทย์เพิ่มการอบรมอีก อาจทำเป็นอีเลิร์นนิ่งหรืออะไรก็ตาม เพื่อให้มีแพทย์กระจายทั่วประเทศ ส่วนเรื่องการผลิตกัญชาใช้ทางการแพทย์นั้น ทาง อภ.คิดว่าจะผลิตได้ในเดือนก.ค.จะมีน้ำมันกัญชามาใช้ในกลุ่มนี้ แต่ในกรณีที่จำเป็น อภ. ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตยาเพื่อความมั่นคงของประเทศอยู่แล้วก็จะมีการพิจารณาว่าจะผลิตล็อตเร่งด่วนก่อนในช่วงเดือนพ.ค.นี้ เผื่อเฉพาะคนที่แจ้งครอบครองไว้ที่เดือนพ.ค.เท่านั้น ส่วนวัถตุดิบก็ใช้ของกลางที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จับมา ซึ่งมีหลายเกรด หากตรวจแล้วไม่มีการปนเปื้อนก็ใช้ได้ หรืออีกวิธีหนึ่งคือการนำเข้าวัตถุดิบ
 
ด้าน นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ผอ.สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวถึงเนื้อหาในการจัดอบรมการผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ ในวันที่ 29-30 เม.ย.ว่า การอบรมแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ให้เป็นผู้ใช้และสั่งจายกัญชาทางการแพทย์จะมีทั้งหมด 6 รุ่น ในวันที่ 29-30 เม.ย.นี้นับเป็นรุ่นแรก ส่วนรุ่นที่ 2 เริ่ม 23-24 พ.ค. และรุ่นสุดท้ายในเดือนก.ย. เนื้อหาหลักที่จัดการอบรม เน้นให้เข้าใจถึงการปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ ทั้งในเชิงนโยบาย ข้อมูลพื้นฐานของกัญชาและสารสกัด กฎหมายที่ออกมาใหม่ กัญชาใช้กับโรคอะไรได้บ้าง โรคอื่นๆ รวมถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาเลือกผู้ป่วยในการใช้กัญชารักษาโรค การเปรียบเทียบข้อมูลข้อเสียในการใช้ และการป้องกันการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ทั้งนี้ หลังอบรมแล้วยังต้องมีการประเมินผลอีก หากผ่านการประเมินแล้วถึงจะนำผลดังกล่าวไปยื่นต่ออย.เพื่อขออนุญาตสั่งจ่ายกัญชาในการแพทย์
 
นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับโรคผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาด้วยกัญชานั้น จะต้องมีผลการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ อย่างชัดเจน ได้แก่ ลมชัก คลื่นไส้ อาเจียน และโรคทางระบบประสาท ส่วนโรคที่ห้ามใช้กัญชารักษา ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติป่วยทางจิตเภท ผู้แพ้สารที่ใช้ในการสกัดกัญชา โรคหัวใจที่มีอาการรุนแรง โรคตับรุนแรง เป็นต้น.