ข่าวสช.วอนพรรคการเมืองหนุนก.ม.เลือกตายอย่างสงบ - kachon.com

สช.วอนพรรคการเมืองหนุนก.ม.เลือกตายอย่างสงบ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส กรรมการที่ปรึกษาด้านสิทธิสุขภาพ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งบนเวที “สช.เจาะประเด็น : เร่งตาย vs เลือกตาย สิทธิในวาระสุดท้าย ใครกำหนด?” ว่า การเลือกสิทธิที่จะตายเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ซึ่งในโลกนี้มีอยู่ 2 แบบ ในต่างประเทศ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศที่อนุญาตให้ทำการุณยฆาตร หรือการช่วยผู้ป่วยฆ่าตัวตาย ส่วนของไทยจะแตกต่างออกไป โดยมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 ระบุว่าบุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต คน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ (Living will) เป็นการให้สิทธิกับผู้ป่วยในการเลือกที่จะตายในวาระสุดท้ายของชีวิตให้เป็นไปตามธรรมชาติ ได้รับการรักษาแบบประคับประคอง ไม่ใช่การทอดทิ้งไม่รักษาแต่อย่างใด  

ศ.แสวง  กล่าวต่อว่า มาตรา 12 ที่ให้สิทธิการตายตามธรรมชาติ ต้องมีการเขียนความต้องการเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจริงๆ ไม่ได้มีแบบแผน สามารถเขียนลงไปได้เลยว่าในวาระสุดท้ายของชีวิตต้องการให้ทำอะไรกับร่างกายบ้าง หรือไม่ทำอะไรบ้าง หรือเขียนกำหนดได้ถึงขั้นว่าไม่อยากให้ใครมาเยี่ยม หรืออยากจะกินอะไรก่อนวาระสุดท้ายมาถึงจริงๆ และย้ำว่าการเขียนหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว ควรเขียนวันที่กำกับเอาไปไว้ทุกครั้ง ทั้งนี้หากไม่ทราบว่าจะต้องเขียนอย่างไรก็มีตัวอย่างให้ โดยสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ ของสช. ทั้งนี้ควรมีพยานเซ็นกำกับไว้ด้วย และเมื่อเขียนเสร็จแล้วแนะนำให้ทำสำเนา เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง จากนั้นนำตัวสำเนาแนบไปกับเวชระเบียน ส่วนเอกสารตัวจริงให้เก็บไว้กับตัว จริงๆ อยากให้เก็บเป็นฐานข้อมูลในบัตรประชาชนด้วยเลย

ศ.แสวง  กล่าวอีกว่า ปัญหาคือกฎหมายฉบับนี้มีใช้มานานถึง 11 ปี แล้ว แต่คนไม่ค่อยรู้เพราะเป็นเรื่องใหม่ และก่อนหน้านี้มีการคัดค้าน แต่เมื่อปี 2558 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่ากฎหมายดังกล่าวถูกต้อง เพราะทำในวาระสุดท้ายของชีวิต ไม่ใช่การทอดทิ้งผู้ป่วยแต่อย่างใด เพราะยังดูแลแบบประคับประคอง ปัจจุบันโรงเรียนแพทย์ต่างๆ เริ่มมาทำศูนย์ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองกันมากขึ้นแล้ว ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็เริ่มทำได้ 2-3 ปี แล้ว แต่ที่อยากให้แก้ไข คือเปลี่ยนแบบฟอร์มให้ญาติผู้ป่วยเซ็นหนังสือปฏิเสธการรักษา ซึ่งทำให้เขากลัว มาเป็นรูปแบบว่าได้มีการคุยให้ผู้ป่วยรับการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ และอยากเรียกร้องให้สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ควรกำหนดเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเกณฑ์การประเมินคุณภาพสถานพยาบาล (HA) และเรียกร้องให้พรรคการเมืองหันมาสนใจทำเรื่องนี้ให้มากขึ้น และจริงๆ ควรบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นเช่นกัน

ด้าน ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการพูดคุยและกับข้อมูลจากผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุพบว่าร้อยละ 93 ไม่กลัวความตาย แต่กลัวความทรมานมากกว่า การมีกฎหมายดังกล่าวก็จะช่วยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบได้ แต่ปัญหาคือคำว่าวาระสุดท้ายของชีวิตนั้น หากเป็นบุคลากรจะเข้าใจกันง่าย แต่ประชาชนอาจจะยังไม่เข้าใจ ดังนั้นแพทย์จะตัดสินใจจากโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่คือ เป็นโรคร้ายแรงที่รักษาไม่หายแล้ว โอกาสตายเยอะ เช่นมะเร็ง หากเป็นเช่นนี้ทั้งผู้ป่วย ญาติทุกคน และแพทย์ต้องมาคุยให้พร้อมกันเพื่อวางแผนกันต่อ เพราะที่ผ่านมาเราพบว่าญาติคือกลุ่มที่มีปัญหาไม่ยอมทำตามความประสงค์ของผู้ป่วย โดยเฉพาะญาติที่อยู่ทางไกลมักจะแสดงความกตัญญูเฉียบพลัน ส่วนกรณีผู้ป่วยที่นอนไม่รู้สึกตัวแล้วและไม่ได้ทำเอกสารตามมาตรา 12 ไว้การตัดสินใจรักษาแบบประคับประคองจะอยู่ที่ญาติ

ด้าน ดีเจพี่อ้อย-นภาพร ไตรวิทย์อารีกุล นักจัดรายการชื่อดัง กล่าวว่า จากที่ตนเคยไปอบรมเกี่ยวกับเรื่องนี้มีการตอบแบบสอบถาม 2 ส่วน ส่วนแรกในฐานะที่เราเป็นเจ้าของชีวิตเอง เมื่อเกิดปัญหาด้านสุขภาพก็เลือกที่จะจากไปเลยดีกว่า แต่การตอบคำถามในกรณีที่เราเป็นญาติกลับมีความต้องการที่จะยื้อชีวิตญาติเราเอาไว้อีกนิด นับเป็นการเห็นแก่ตัวอยู่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามในวาระสุดท้ายแทนที่จะอยู่ท่ามกลางการรักษาของแพทย์ พยาบาลที่เราไม่รู้จักใครเลย จะดีกว่าหรือไม่หากเราได้รับการดูแลแบบประคับประคองแทน และตายในอ้อมกอดของคนที่เรารัก อยากกินอะไรก็กิน ส่วนตัวญาติที่ได้ดูแลกันในช่วงสุดท้ายของชีวิตนั้นก็จะมีความสุขไปด้วยที่อย่างน้อยเขาก็จากไปด้วยความสุข ส่วนตัวได้ทำเอกสารแสดงเจตจำนงฯ เอาไว้แล้ว.