อย.เตรียมแท็กทีมเครือข่ายด้านกัญชา26เม.ย.นี้
การเมือง

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า กัญชามีสารสำคัญ 2 ชนิด คือ ทีเอชซี และ ซีบีดี โดยสารที่เอชซีมีฤทธิ์ทำให้ติดและมึนเมา คล้ายสารเสพติด ส่วนซีบีดีมีประโยชน์ทางการแพทย์ ใช้ในการรักษาโรคสมอง โรคลมชัก ซึ่งในต่างประเทศที่ใช้กัญชาก็อนุญาตสารซีบีดี ทั้งนี้ กัญชามีทั้งข้อดีและข้อเสีย มิเช่นนั้นทั่วโลกคงไม่ประกาศเป็นยาเสพติด แต่เราได้โอกาสที่กฎหมายเปิดช่องให้ใช้ในเรื่องของการรักษาได้ ส่วนเรื่องของสันทนาการก็ต้องระวัง เพราะอย่างในสหรัฐอเมริกา รัฐโคโลราโด ที่เปิดให้ใชเสรี พบว่ามีอุบัติเหตุจราจรสูงขึ้น ทั้งจากเมาเหล้าและเมากัญชา
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ขณะนี้มีหน่วยงานรัฐที่มาขอปลูกกัญชาทางการแพทย์ คือ 1.องค์การเภสัชกรรม 2. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กำลังดำเนินการขออนุญาต และ 3. มหาวิทยาลัยรังสิต อยู่ระหว่างดำเนินการขอ นอกจากนี้ ยังมีหลายแห่งสนใจด้วย ทั้งนี้ ในวันที่ 26 เม.ย. ทางอย.จะมีการหารือจับคู่ความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มคนจิตอาสาที่มีองค์ความรู้ในการใช้กัญชาทางการแพทย์ กลุ่มผู้ป่วยที่ได้ใช้เข้ามาสู่กระบวนการวิจัย
ด้าน ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล นักวิจัยองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ อภ.ยังให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยนเรศวร ในการวิจัยแยกสารและจัดทำสารมาตรฐาน เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์และคำนวณเพื่อให้ทราบปริมาณสารสำคัญของผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง ทั้งวัตถุดิบกัญชาแห้ง สารสกัดกัญชา ผลิตภัณฑ์จากกัญชา เป็นต้น ซึ่งการวิจัยครั้งนี้เป็นการทำคู่ขนาน เพราะปัจจุบัน อภ.มีสารมาตรฐานจากการนำเข้า แต่หากงานวิจัยนี้สำเร็จจะทำให้ไม่ต้องนำเข้า และใช้ผลงานวิจัยจากนักวิจัยไทยของเราเอง เป็นการสนับสนุนงานวิจัยของไทย ซึ่งตรงนี้เป็นการทำงานในลักษณะเครือข่ายร่วมกัน.