ไทยเชื่อมจีน-อาเซียนตั้งเป้าการค้า 1.4แสนล้านดอลลาร์
การเมือง

พล.ท.วีรชน กล่าวอีกว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความสัมพันธ์ทวิภาคี โดยผู้นำไทยและจีนต่างยินดีที่ทั้งสองประเทศ มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการสร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิดและผลักดันความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่รอบด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงให้มีผลเป็นรูปธรรม สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายต่างมองว่า ไทยและจีนยังมีศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจได้อีกมาก เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ตั้งไว้ที่ 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 และเชิญชวนผู้ประกอบการของจีนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Made in China 2025 ของจีนด้วย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ การซ่อมบำรุงอากาศยาน ระบบราง เป็นต้น ในส่วนของความร่วมมือโครงการรถไฟไทย – จีน นายกรัฐมนตรียินดีที่มีการลงนามบันทึกความร่วมมือเส้นทางเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างหนองคายและเวียงจันทน์ พร้อมเน้นย้ำว่า ไทยได้เร่งรัดให้โครงการรถไฟไทย – จีน ให้คืบหน้าตามกำหนด จึงขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ในด้านความร่วมมือ 3 ฝ่าย (ไทย – จีน – ญี่ปุ่น) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า การพัฒนาโครงการ EEC จะเป้นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและภูมิภาค รวมทั้งเป็นประตูเชื่อมโยงจีนผ่านเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียงต่อไป อีกทั้งในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้ให้ความสำคัญกับวิสัยทัศน์ความเป้นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน – จีน ค.ศ. 2030 ซึ่งจะเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งและส่งเสริมความร่วมมือบนผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP) ภายในปีนี้ ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย.