นักวิชาการหวั่นการตีความก.ม.ยุคคสช.เอื้อคนมีอำนาจ
การเมือง
นายยิ่งชีพ กล่าวต่อว่า การแก้ไขกฎหมายหลายฉบับที่เพิ่มความผิดให้ประชาชน อาทิ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ เป็นต้น ทั้งนี้ในการตีความกฎหมายจะเห็นได้ว่าเกิดข้อถกเถียงกันขึ้นในสังคม ผู้มีอำนาจตีความไปทางหนึ่ง นักวิชาการกฎหมายและคนในสังคมตีความไปในทางหนึ่ง อาทิ เรื่องสถานะเจ้าหน้าที่ของรัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, การตีความสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น ปัญหาคือเมื่อมีปัญหาทางกฎหมาย คนตีความไม่จำเป็นต้องตีความตามที่คนทั่วไปเข้าใจ ทำให้การตีความกฎหมายถอยห่างจากประชาชนไปเรื่อยๆ ถือเป็นวัฒนธรรมที่น่ากลัว และสิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือการให้ทหารเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน ทั้งการให้อำนาจทหารเป็นพนักงานสอบสวน การจับกุม สืบสวนสอบสวน ให้อำนาจทหารเข้ามาในคดีความมั่นคง คดีการเมือง และให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร โดยมีสถิติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร 1,546 คดีจำเลย 1,811 คน
ด้านนายปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในช่วงที่ สนช.ได้ออกกฎหมายหลายฉบับนั้น มีกฎหมายอาญาบางฉบับที่เป็นผลดีและเป็นเรื่องที่ดีเกี่ยวกับการดำเนินคดีทางอาญา อาทิ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษที่แก้ในปี 2560 ปรับให้คนที่ครอบครองยาเสพติดเกิน 15 เม็ดให้สันนิฐานว่าครอบครองเพื่อจำหน่ายจากเดิมให้ถือเป็นครองครองเพื่อจำหน่ายทันที นอกจากนั้นกรณีแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความทางอาญา(ป.วิอาญา) มาตรา 161/1 และ 165/2 หากเป็นการฟ้องที่ไม่ใช่การใช้สิทธิโดยสุจริตศาลสามารถยกคำฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้เลย แก้ปัญหาการฟ้องแก้เกี้ยว รวมทั้ง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม 2558 มีการตั้งกองทุนยุติธรรมช่วยเหลือประชาชน ช่วยการประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลยด้วย เป็นต้น
ส่วนเรื่องที่น่าจะเป็นปัญหา อาทิ การแก้ไข ป.วิอาญา มาตรา 198 วรรคสาม หากจำเลยหลบหนีไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ในคดีได้ ทั้งที่จำเลยในคดีอาญามีสิทธิอุทธรณ์ และไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายสากล นอกจากนั้น พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ และ พ.ร.บ.ทุจริต มีการแก้ไขให้ศาลพิจารณาฝ่ายเดียวเลย หรือพิจารณาลับหลังในกรณีที่จำเลยไม่มาศาลได้ แต่ในต่างประเทศจะมีเงื่อนไขว่าหากจำเลยมาศาลภายหลังสามารถร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ซึ่งกรณีนี้เราเอามาไม่หมด อีกเรื่องคือการแก้ไขมาตรา 110 ป.วิอาญา ที่มีการแก้ไขให้คดีที่มีโทษ 10 ปีขึ้นไปต้องมีการวางหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งเหมือนจะดีแต่ยังไม่สุดเพราะแก้ไขแค่ตัวเลขปี แต่ในการเรียกหลักประกันยังกำหนดตามหลักเกณฑ์เดิมโดยไม่มีการประเมินสถานะทางเศรษฐกิจของจำเลย
นายปกป้อง กล่าวอีกว่า เรื่องที่เป็นปัญหาในการแยกอำนาจ และให้อำนาจองค์กรอื่นที่ไม่ใช่นิติบัญญัติกำหนดโทษทางกฎหมาย จาก พ.ร.บ.ติดตามผลสำฤทธิ์ทางกฎหมายซึ่งผ่าน สนช.แล้ว แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้นั้น ในมาตรา 6 มีการให้อำนาจที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนดความผิดหรือกำหนดโทษ กรณีเห็นว่ากฎหมายนั้นไม่เป็นประโยชน์หรือเป็นภาระแก่ประชาชน ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างโทษใหม่ๆ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติคาดไม่ถึง อาทิ หากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่ากฎหมายไม่มีประโยชน์อาจจะยกเลิกโทษจำคุกหรือโทษปรับตามกฎหมายและอาจกำหนดโทษใหม่ได้ อย่างโทษตัดสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น ซึ่งตนมองว่า มาตรา 6 ของ พ.ร.บ.ติดตามผลสำฤทธิ์ทางกฎหมายเองที่เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นประโยชน์
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้อำนาจพิเศษในปริมาณที่มาก และอำนาจตามมาตรา 44 จะยกเลิกได้ต้องออกเป็น พ.ร.บ.เท่านั้น ไม่ใช่ยกเลิกง่ายๆ โดยการจะแก้ไขได้ง่ายๆ นั้นอาจจะขอให้รัฐบาลใหม่ยกเลิกด้วยคำสั่งนายกฯ หรือมติ ครม.ได้เลย แต่หากรัฐบาลใหม่เป็นนายกฯ คนเดิมก็อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะยกเลิกคำสั่งที่เขาเป็นคนออกเอง ทั้งนี้เรื่องที่แย่คือกฎหมายแทบทั้งหมดที่ออกในยุค คสช.มาจากหน่วยงานของรัฐเสนอขึ้นมา และเป็นการออกกฎหมายแบบสภาเดียว ไม่มีฝ่ายค้าน และ สนช.แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่แท้จริงแล้ว คสช.เป็นคนแต่งตั้งเขา ดังนั้นกฎหมายที่ออกมากว่า 444 ฉบับเป็นกฎหมายที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ทั้งนี้มรดกทางกฎหมายอาญาเป็นเพียงมิติหนึ่งของมรดกทางกฎหมายของ คสช.ทั้งหมด เป็นหน้าที่รัฐบาลใหม่เป็นหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรใหม่ ที่จะต้องแก้ไขต่อไป.