ข่าวแนะโฆษกศาลแจงคำตัดสินผู้สมัครส.ส.ถือหุ้นสื่อ - kachon.com

แนะโฆษกศาลแจงคำตัดสินผู้สมัครส.ส.ถือหุ้นสื่อ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า  มีการวิจารณ์ให้ความเห็นทางวิชาการมากมายเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1706/2562 ที่ให้เพิกถอนรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 โดยมีผู้ให้ความเห็นไปไกลถึงขนาดว่าถ้าศาลตีความแบบนี้ อาจทำให้ส.ส.หมดไปนับร้อยคน ถือเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญประการหนึ่ง  ตนได้อ่านตอนแรกก็เคลิ้มตามไปว่าน่าจะมีปัญหาอย่างที่มีผู้ให้ความเห็นไว้จริงๆ แต่เมื่อตนตั้งสติได้ก็ดูเหมือนสังคมจะวิตกอะไรเกินเหตุและฟังเขาว่ามากไป  ตนจึงขอแสดงความเห็นไว้ ดังนี้1.เวลาเราไปจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วน บริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เขาจะมีแบบฟอร์มวัตถุประสงค์ของบริษัทไว้เป็นแบบมาตรฐานเหมือนกันหมดรวม 22 ข้อ หมายความว่าใครไปจดทะเบียนบริษัท ก็สามารถทำกิจการตาม 22 ข้อได้
 
นายนิพิฏฐ์ กล่าวอีกว่า  2.ในความเป็นจริง เมื่อเราไปจดทะเบียน เจ้าหน้าที่จะให้เราระบุวัตถุประสงค์เพิ่มเติมเป็นข้อต่อไป เป็นข้อ 23,24,25 หรือมากกว่า ก็แล้วแต่ว่าวัตถุประสงค์จริงๆที่เราต้องการประกอบกิจการคืออะไร 3.กรณีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 1706/2562 วินิจฉัยไว้ เราไม่มีข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกเพิกถอนชื่อจากการสมัครส.ส.ได้ระบุวัตถุประสงค์เพิ่มเติมไว้ต่อจากแบบมาตรฐานเป็นข้อที่ 23 หรือข้อต่อไปหรือไม่ หากระบุไว้ คำวินิจฉัยของศาลฎีกาก็ชอบแล้ว เราอย่าไปวิตกเกินเหตุ สมมติว่าเราระบุว่าประกอบกิจการด้านสื่อ และเข้าไปเป็นหุ้นส่วน แม้ยังไม่ประกอบกิจการ ก็ถือว่าผิด สมัครส.ส.ไม่ได้ 4.แต่หากผู้เพิกถอนชื่อ ระบุวัตถุประสงค์ของห้างฯหรือบริษัท ไว้ตามแบบมาตรฐาน และถูกเพิกถอนชื่อจากการสมัครส.ส. อันนี้จะสร้างปัญหามากจริงๆ อาจจะทำให้ส.ส.หมดไปเป็นร้อย แต่หากเป็นไปตามนี้ ก็มีวิธีแก้คือขอให้ศาลฎีกาประชุมใหญ่เพื่อกลับคำวินิจฉัยเดิม อย่างนี้ตนคิดว่าศาลฎีกาน่าจะรับฟัง และแก้วิกฤตได้
 
“แต่อย่างไรก็ตาม ผมว่าศาลฎีกาวินิจฉัยตามข้อ 3 มากกว่า ซึ่งน่าจะถูกต้องแล้ว เราอย่าฟังตามเขาว่ากันเลยครับ บ้านเมืองมีปัญหา เพราะเราฟังตามเขาว่ากันนี่แหละ ทางที่ดีผมแนะนำให้โฆษกศาลฎีกาออกมาให้รายละเอียดดีกว่าครับ เพราะถ้าโฆษกศาลออกมาแถลง ก็ยุติการร้องเรียนกันได้หมดเลย จบข่าว”