ข่าวจิตแพทย์ห่วงยุค 5 จีคนสมองเสื่อม - kachon.com

จิตแพทย์ห่วงยุค 5 จีคนสมองเสื่อม
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. นพ.กิตต์กวี  โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เปิดเผยว่า ปัญหาโรคสมองเสื่อมเป็นภัยเงียบทางกาย ซึ่งจากผลสำรวจของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขครั้งล่าสุดในปี 57 พบผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีภาวะสมองเสื่อมคือสมองสูญเสียความสามารถในการจำ การคิด สติปัญญา อารมณ์ มีพฤติกรรมและบุคลิกภาพเปลี่ยนไป จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน ทำงานหรือเข้าสังคมได้ ร้อยละ 8.1 โดยพบในผู้ชายร้อยละ 6.8 ผู้หญิงร้อยละ 9.2 เฉพาะในเขตสุขภาพที่ 9 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุสมองเสื่อมประมาณ 89,000 คน จากผู้สูงอายุที่มี 1.1 ล้านกว่าคน ส่วนภาพรวมทั่วประเทศคาดว่าจะมีกว่า 8 แสนคนจากผู้สูงอายุในปี 61 ที่มี 10.6 ล้านกว่าคน ทั้งนี้โรคดังกล่าวเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยและไม่มียารักษาให้หายขาด มีเพียงยาชะลอไม่ให้เสื่อมเพิ่ม พบว่าร้อยละ 80 เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ รองลงมาเกิดจากโรคหลอดเลือดในสมอง ทำให้เนื้อสมองตาย ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตหลังป่วยประมาณ 8  ปี ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2562 นี้  รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ได้จัดโครงการพัฒนาระบบมาตรฐานการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน หมู่บ้าน ที่ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมและมีปัญหาด้านพฤติกรรมและจิตใจร่วมด้วยนำร่องที่อ.เมืองและอ.สีขรภูมิ ของจ.สุรินทร์ ก่อนขยายให้ครบทั้ง 4 จังหวัดของเขตสุขภาพที่ 9 คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์
 
นพ.กิตต์กวี กล่าวต่อว่า สมองเป็นอวัยวะสำคัญที่ควบคุมความคิด ความจำ การตัดสินใจ การเคลื่อนไหว ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ กำกับการเต้นของหัวใจ การหายใจ การย่อยอาหาร การพักผ่อน ปกติเซลล์สมองจะมีโอกาสเสื่อมลงเมื่อเราอายุ 40 ปีขึ้นไป มีมีงานวิจัยพบว่าเซลล์ประสาทจะถูกผลิตสร้างขึ้นมาใหม่เรื่อยๆหากมีการฝึกการใช้สมองบ่อยๆ หากสมองไม่ถูกใช้งานเซลล์ประสาทจะเสื่อมและตาย จึงมีความเป็นห่วงการใช้ชีวิตในยุคที่เทคโนโลยีด้านการสื่อสารเจริญก้าวหน้าและใช้ประโยชน์หลายสิ่งในชิ้นเดียว โดยเฉพาะในยุค 5 จีที่มีความก้าวหน้าใหม่ๆเกิดขึ้น เช่น  เมืองอัจฉริยะ  รถยนต์ไร้คนขับ  การใช้ระบบจีพีเอส (GPS) ช่วยนำทาง รวมทั้งการใช้เครื่องคิดเลข การบันทึกเบอร์โทรศัพท์ในมือถือเป็นต้น การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้บ่อยๆ อาจทำให้การใช้สมองเพื่อคิด จดจำ ตัดสินใจน้อยลงเรื่อยๆ และเกิดสภาวะที่คนไทยเรียกว่า สมองเป็นสนิมอย่างไม่รู้ตัวได้ เสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมเร็วขึ้น ดังนั้นต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างถูกต้อง และต้องไม่ลืมฝึกให้สมองแข็งแรงอยู่เสมอ 


ด้านพญ.อัญชลี ศิริเทพทวี รองผอ.ด้านการแพทย์และประธานคณะอนุกรรมการพัฒนามาตรฐานการบริการผู้สูงอายุของรพ.จิตเวชนครราชสีมา กล่าวว่า ขอแนะนำวิธีการฝึกสมอง 4 ข้อคือ 1.ออกกำลังกายแบบแอโรบิคสม่ำเสมอ 15 นาทีขึ้นไปต่อครั้ง อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ เช่นวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เดินเร็ว ช่วยให้การไหลเวียนเลือดดี กระตุ้นการสร้างเซลล์สมอง และปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง ช่วยสลายความเครียด อารมณ์แจ่มใส 2. ฝึกลับคมสมอง ฝึกกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด เช่น การคิดเลข ที่ไม่ใช่เลขจำนวนมากๆ ฝึกการจำเพลงโดยการฟัง ฝึกท่องจำ วาดรูป สวดมนต์ หรือเล่นเกมจับคู่ เป็นต้น ถ้าเป็นวัยเด็กและวัยรุ่นเกมที่ใช้เล่นฝึกกระตุ้นสมองได้ดีเช่น เกมสะกดคำ เกมตัวต่อภาพหรือจิ๊กซอว์ เกมไขว้คำศัพท์ เป็นต้น การเล่นเกมประเภทกระตุ้นสมองทุกวัน จะเป็นการออกกำลังกายสมอง กระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองทำงานได้ดี และมีการสร้างเซลล์ขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่องด้วย 3. ฝึกทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำ เช่น ใช้มือข้างไม่ถนัด ขับรถเปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง เป็นต้น และ 4. กรณีที่เป็นผู้สูงอายุ ควรเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม  ไม่ควรอยู่จับเจ่าที่บ้านคนเดียว เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย และมีการพบปะพูดคุยกันการได้สังสรรค์กับผู้อื่น จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้ดีขึ้น.