รอเลย!สัปดาห์หน้ารู้แน่ใครได้สิทธิปลูกกัญชา
การเมือง
นพ.ปราโมทย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีตำรับยากัญชา 16 ตำรับที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมาย คิดว่าใช้จริงน่าจะประมาณ 5-6 ตำรับ เช่น ยาศุขไสยาศน์ ยาสนั่นไตรภพ เป็นต้น ดังนั้นจากนี้จะต้องมีการติดตามและประเมินผล หากตำรับใดที่มีการสั่งจ่ายครบ 100 เคสก่อนก็จะมีการศึกษาต่อถึงประสิทธิภาพ ลักษณะการออกฤทธิ์ สาระสำคัญ เพราะมีหลายตัวยาผสมอยู่ ทั้งนี้จากการข้อมูลจากหมอพื้นบ้านไทยพบว่ามีความต้องการใช้กัญชาปีละประมาณ 10 ตัน ดังนั้นจึงได้มีการวางแผนการปลูกกัญชามารองรับความต้องการนี้โดยแบ่งสัดส่วนให้ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ปลูกด้วยเทคโนโลยีใหม่ จำนวน 2 ตัน เพื่อให้ได้กัญชาที่เพียงพอ และเพื่อการพัฒนาสายพันธ์ต่อ 2.ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ปลูกในลักษณะโรงเรือน จำนวน 2 ตัน ส่วนที่เหลือ 6 ตัน ให้วิสาหกิจชุมชนไปปลูก แต่ส่วนนี้ต้องมาจัดสรรว่าจะให้ใครปลูก ปลูกที่ไหน ส่งให้กับรพ.ไหน เอาไปใช้ โดยให้สภาเกษตรแห่งชาติ ไปพิจารณาและมาหารือกับกรมฯ อีกครั้งคาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะได้ข้อสรุป
ผู้สื่อข่าวถามว่าเนื่องจากเป็นตำรับยาสำหรับผู้ป่วย กัญชาที่ใช้ต้องได้มาตรฐานทางการแพทย์หรือไม่ และเนื่องจาก กัญชาเป็นพืชที่ดูดซับสารพิษได้ง่ายมา ดังนั้นการปลูกแบบโรงเรือนจะมีการควบคุมมาตรฐานอย่างไร นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า เราเข้าใจว่ากัญชาเป็นพืชที่มีความสามารถในการดูดซับสารพิษ ตะกั่ว ปรอทได้ง่าย เคยคิดจะขอของกลางจากป.ป.ส.มาใช้ แต่ก็มีปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม เกรดทางยาระหว่างแพทย์แผนไทย กับแพทย์แผนปัจจุบันจะแตกต่างกันอยู่ เราจะวัดที่ตัวผลิตภัณฑ์เลย ดังนั้นเรื่องมาตรฐานเราจะอิงตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก การปลูกพืชกัญชาต้องได้มาตรฐานจีเอ็มพี ปลอดสารพิษ จริงๆ ซึ่งนอกจากพื้นที่ปลูกไม่ใช้สารเคมีแล้ว พื้นที่โดยรอบรัศมี 5 กิโลเมตรก็ควรต้องปลอดสารพิษด้วย
ด้าน นายเดชา ศิริภัทร หมอพื้นบ้าน และประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ตนเพิ่งผ่านการรับรองเป็นหมอพื้นบ้าน ส่วนน้ำมันกัญชาสูตรของตนก็ยังนำไปใช้ไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ต้องรอโครงการวิจัยที่ทำร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อน ทั้งนี้ตนมองว่าการเข้าสู่ระบบ เช่นนี้ มีทั้งผลดี ผลเสีย ผลดี คือ จะได้ทำให้ถูกกฎหมาย ส่วนผลเสีย คือ คนไข้ยังเข้าไม่ถึง ซึ่งต่อให้ตนทำโครงการวิจัยได้เต็มศักยภาพ ซึ่งไม่ครอบคลุมคนไข้ที่ต้องการใช้ยาประมาณ 8 แสน -2 ล้านคน แม้ อย.กำลังจับคู่กลุ่มที่มีกำลังการผลิตก็ไม่ถึงเป้า ดังนั้นตนคิดว่าต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้มีการเข้าถึง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะขับเคลื่อนเพื่อให้ประชาชนปลูกได้บ้านละกี่ต้น ซึ่งจากที่คุยกันคือการเดินขบวนเรียนกร้องเป็นเวลา 20 วัน ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับคณะทำงานอีกครั้ง.