ทช.เฝ้าระวังสถานการณ์ปะการังฟอกขาว
การเมือง
นายจตุพร กล่าวว่า ปะการังฟอกขาว เป็นปรากฏการณ์ที่ตัวปะการังขับเอาสาหร่ายซูแซนเทลลี่ออกจากเซลล์ เนื่องจากตัวปะการังเกิดความเครียดสะสมจากสภาวะที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงมากเกินไปคือเกิน 30 องศาเซลเซียส ในภาวะเช่นนี้ตัวปะการังจะอ่อนแอลง ซึ่งหากอยู่ในสภาพนี้นานๆ หรือเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไป ปะการังก็จะฟอกขาวและตายในที่สุด แต่หากสภาพแวดล้อมกลับมาเป็นปกติในเวลาไม่นานนัก สาหร่ายก็ยังจะกลับเข้ามาอยู่ร่วมกับปะการังเหมือนเดิม และปะการังก็กลับมามีชีวิตอยู่ได้
"ในภาวะที่อาจเกิดปะการังฟอกขาวนี้ ปะการังอ่อนแอลง จึงควรระมัดระวังและลดผลกระทบที่จะเกิดกับปะการัง อาทิ นักท่องเที่ยวควรสวมใส่เสื้อชูชีพขณะลงดำน้ำดูปะการัง หลีกเลี่ยงการจับต้องปะการัง หรือยืนบนปะการัง ไม่ให้อาหารปลา และไม่ทิ้งเศษอาหารลงในแนวปะการัง รวมถึงการเลือกใช้ครีมกันแดดที่ไม่ส่งผลกระทบกับปะการัง ในส่วนผู้ประกอบการ ควรมีการจัดการกับขยะให้ดีไม่ให้ร่วงหล่นลงทะเล อีกทั้งไม่ปล่อยน้ำทิ้งและสิ่งปฏิกูลลงในแนวปะการังหรือใกล้แนวปะการังอีกด้วย ทั้งนี้อาสาสมัครนักดำน้ำ สามารถเฝ้าระวังและรายงานสถานการณ์ปะการังฟอกขาวแก่ทช. โดยเปิดช่องทางรับแจ้งผ่านเว็บไซต์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง www.dmcr.go.th "อธิบดีทช.กล่าว
ด้านนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปีนี้อากาศร้อนมาเร็วกว่าปกติ และอุณหภูมิของน้ำทะเลก็สูงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ปะการังทั้งในอ่าวไทย และอันดามันรอดจากปรากฏการณ์ฟอกขาวได้เพราะมีฝนตกลงมาช่วย แต่ปีนี้ยังไม่มีฝนตก และคาดว่าฤดูร้อนจะยาวมากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า หลายๆพื้นที่ปะการังเริ่มซีดแล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นฟอกขาว เช่น ที่บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ เป็นต้น.