ข่าวครม.อนุมัติงบกลาง1.2พันล้านแก้ปัญหาภัยแล้ง - kachon.com

ครม.อนุมัติงบกลาง1.2พันล้านแก้ปัญหาภัยแล้ง
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัต ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า  สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ได้มีการเสนอขออนุมัติงบประมาณกลางประจำปี 2562 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นสำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการเพิ่มเแหล่งเก็บกักน้ำและเพิ่มน้ำต้นทุนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และรองรับปริมาณน้ำฝนในปีนี้ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการที่สนทช. ได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในฤดูแล้งเพื่อบริหารจัดการน้ำเชิงป้องกันปัญหา แต่ก็ยังพบพื้นที่ประสบปัญหาแล้ง โดยมีการประกาศเขตภัยพิบัติโดยผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. คือร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา ตราด และชลบุรีนอกจากนี้ยังมีพืนที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอีก 11 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ เลยได้กำหนดเป้าหมายและเชิญ 10 หน่วยงานด้านน้ำมาหารือ เพื่อหาแนวทางในการบรรเทาภัยแล้งเฉพาะหน้า ระยะกลาง และระยะยาว จึงเป็นที่มาของของโครงการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำและเพิ่มน้ำต้นทุน 

"วัตถุคือเพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บน้ำในแหล่งกักเก็บเดิมในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนให้พื้นที่ประสบภัยแล้ง และพื้นที่เสี่ยงขาดแคลน รวมถึงเพิ่มพื้นที่ให้บริการน้ำประปาในหมู่บ้านในพื้นที่ขาดแคลน ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ" พล.ต.อธิสิทธิ์ กล่าว 

พล.ต.อธิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่เป้าหมายจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ 1.พื้นที่ประกาศภัยแล้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ปี 2561-2562 รวม 5จังหวัด 2. พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคปี 2561-2562 รวม18 จังหวัด 3.พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรนอกเขตชลประทาน ปี 2561-2562 รวม9 จังหวัด และ 4. พื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากซึ่งจะทำให้เกิดความต้องการแหล่งน้ำของชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 11 จังหวัด ทั้งนี้ลักษณะการดำเนินการจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมและดำเนินงานได้ทันที และต้องผ่านการทำประชาคมเรียบร้อยแล้ว โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งเมื่อรวมแล้วพบว่ามีพื้นที่ที่ต้องดำเนินการ 144 โครงการ งบประมาณ 1,226 ล้านบาทเศษ  ซึ่งจะสามารถกักเก็บน้ำได้ 28.12 ล้านลูกบาศก์เมตร มีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 85,474ครัวเรือน แบ่งเป็นโครงการในพื้นที่เป้าหมาย 99 โครงการ งบฯ 921 ล้านบาท และโครงการนอกพื้นที่เป้าหมาย 45 โครงการ งบฯ 304 ล้านบาท.