ข่าว12จว.เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค - kachon.com

12จว.เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2562 ว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี  สั่งการและกำชับให้ทุกหน่วยงานซักซ้อมแผนปฏิบัติการของหน่วยงานต่างๆเพื่อรับมือกับภาวะเสี่ยงประสบภัยแล้ง เนื่องจากมีพื้นที่ 5 จังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้งแล้ว รวมถึงยังมีพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค

โดย สทนช.ได้วิเคราะห์ข้อมูลน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงเดือนพ.ค.-ก.ค. คาดว่า จะมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค จำนวน 12 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร กำแพงเพชร ลำพูน อุตรดิตถ์ และตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.สุรินทร์และกาฬสินธุ์, ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ปทุมธานี อยุธยา ชัยนาท และอ่างทอง และภาคตะวันตก 1 จังหวัด คือ จ.เพชรบุรี ซึ่ง สทนช.ได้จัดทำข้อมูลเพื่อวางแผนแก้ปัญหาพื้นที่ขาดแคลนน้ำแล้ว ขณะเดียวกัน พล.อ.ฉัตรชัยยังขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนการแก้ปัญหาประสบภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ทั้งระยะสั้นและระยะกลาง โดยในระยะสั้น จะดำเนินการจัดหาน้ำแจกจ่ายในพื้นที่ประสบภัย ซ่อมแซมขุดบ่อบาดาลและขุดลอกแหล่งน้ำ ส่วนในระยะกลาง เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการเพิ่มความจุแหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ โดยมีโครงการที่มีความพร้อมที่จะดำเนินการทั้งสิ้น 144 โครงการ งบประมาณ 1,200 ล้านบาท สามารถเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ 28.12 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า  ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพในการตรวจสอบแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤติ และที่ประชุมยังได้พิจารณามาตรการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 31 ต.ค. โดยกำหนดมาตรการเป็นรายพื้นที่เพื่อการจัดการน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆให้กักเก็บได้มากที่สุด โดยนำเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ( Rule Curve) ที่ปรับปรุงใหม่สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบตั้งแต่กลางเดือนพ.ค. เพื่อใช้บริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน

ขณะที่สถานการณ์น้ำระหว่างประเทศ คือแม่น้ำโขงที่ได้มีการประสานงานภายใต้กรอบทวิภาคีและพหุภาคีในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำกับประเทศจีนและประเทศลาวในช่วงฤดูฝน โดยประเทศจีนรายงานข้อมูลน้ำ 2 ครั้งต่อวันตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป ขณะที่ประเทศลาวได้เริ่มการใช้งานเขื่อนไซยะบุรี(กั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง) ผ่านทางระบบสารสนเทศของคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย(TNMC-IS) ซึ่งจะทำให้ประเทศมีข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พล.อ.ฉัตรชัยยังได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในช่วงก่อนฤดูฝนสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปด้วย.