ข่าวกพย.จ่อเสนอร่างกฎหมายพืชยากัญชา-กระท่อม  - kachon.com

กพย.จ่อเสนอร่างกฎหมายพืชยากัญชา-กระท่อม 
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 19 "กัญชา เพื่อเยียวยาสุขภาพ" โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีด้านวิจัย จุฬาฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า สารสกัดจากกัญชาซีบีดี ที่ได้รับรองทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์มี 35 ประเทศ กฎหมายเปิดบางส่วน 18 ประเทศ ส่วนอีกหลายร้อยประเทศยังผิดกฎหมายอยู่ ก็ต้องมาคิดให้รอบคอบทั้งวิทยาศาสตร์ การแพทย์ สังคม กฎหมาย การจะรณรงค์เปิดกัญชาเสรีก็ต้องมาคิดร่วมกัน ทั้งนี้ การนำกัญชามาใช้มี 4 ประเด็นที่ต้องถกกันชัดเจน คือ 1.โรคอะไรได้ผลชัดเจน  2.ความปลอดภัย เพราะแม้แต่พาราเซตามอล ก็ทำให้คนตายได้ 3.คุณภาพ สกัดถูกวิธี มีสารปนเปื้อนหรือไม่  และ 4.เข้าถึงได้อย่างไรให้เป็นระบบ ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ซึ่งตรงนี้จะช่วยกันขจัดความหลงเชื่องมงายในสังคม โดยเฉพาะการคิดว่ากัญชาสามารถรักษาได้ทุกโรค และต้องไม่สุดโต่ง เพราะเมื่อคนอยากจะใช้จะมีเรื่องการหลอกลวงการค้าเข้ามา ทั้งนี้ยาทุกชนิดที่ใช้รักษาโรคสิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้คนไข้ที่จำเป็นเข้าถึงยาเร็วที่สุด ถูกต้องปลอดภัยที่สุด ต้องมุ่งเน้นหลักฐานเชิงประจักษ์ ประสิทธิภาพคุณภาพความปลอดภัย และใช้อย่างมีสติ

ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้จุฬาฯ มีงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาหลายชิ้น คือ 1.งานวิจัยร่วมหลายคณะของจุฬาฯ เรื่องการปลูกพัฒนาสายพันธุ์ การวิจัยให้สารสกัดกัญชาที่ต้องการไปเกิดในต้นไม้อื่น ให้ได้สารสกัดปริมาณเหมาะสม ซึ่งจะเร็วกว่าการปลูกกัญชา การวิจัยความปลอดภัยของสารสกัด การวิจัยพัฒนาตำรับจากกัญชาที่เหมาะสมกับการใช้ในช่องทางต่างๆ เช่น ทางปาก การเหน็บ การพ่น และวิจัยเรื่องความปลอดภัยในการใช้ในคนและมิติต่างๆ ทั้งนี้หากติดตามแล้วได้ผลจะขอขึ้นทะเบียนเป็นยาที่เอาไปใช้อย่างปลอดภัย 2.งานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น โดยได้รับทุนจาก สกว. เพื่อวิจัยภาพรวมเรื่องเกี่ยวกับกัญชาที่ยังไม่รู้ รวมถึงศึกษาการตลาด และมีนโยบายกัญชาที่เหมาะสม 3.งานวิจัยประเมินกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับกัญชา ว่าเหมาะสม หรือมีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ 4.งานวิจัยตำรับยาแผนไทย โมเดลนายเดชา ศิริภัทร หมอพื้นบ้าน และประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เพื่อดูว่าใช้ในโรคและอาการอะไรบ้าง มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลข้างเคียง และอาการไม่พึงประสงค์อะไรบ้าง 

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ช่วง 3 เดือนหลังพ้นการนิรโทษกรรมผู้ครอบครองกัญชา จะต้องมีกระบวนการต่อท่อเอาผู้ที่ยังอยู่ใต้ดินขึ้นมาบนดิน เป้าหมาย คือ เพื่อผู้ป่วย ในส่วนของน้ำมันกัญชานั้นจะมีการสกัดที่โรงงานของจุฬาฯ ที่จังหวัดสระบุรี และคณะทำงานของสภากาชาดไทยจะมีการรับสกัดกัญชาตามสถานที่ต่างๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปลูกกัญชาอยู่และมั่นใจว่าต้องการที่จะทำเพื่อผู้ป่วยอย่างแท้จริง ให้ส่งกัญชามาสกัดและตรวจสอบความสะอาดของผลิตภัณฑ์ได้ และโปรดอย่าถามว่าจะได้กำไรเท่าไหร่ เพราะเราตกลงกันคั้งแต่แรกแล้วว่าเป็นเรื่องจิตอาสาที่ทำเพื่อผู้ป่วย ขณะที่ผู้ป่วยเดิมที่มีการใช้กัญชาอยู่นั้นก็จะเข้าสู่การรักษาด้วยกัญชาภายใน รพ.ชุมชน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป แต่อนาคตหวังว่าจะลงไปถึงรพ.สต. และใช้กระบวนการอสม.-กาชาดจังหวัดลงไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ที่ถูกต้อง ซึ่งหากดำเนินการได้เชื่อว่าจะแก้ปัญหาลอบขายน้ำมันกัญชาใต้ดินราคาสูง ขวดละ 2,000-20,000 บาท ที่อาจจะไม่ปลอดภัยและมีสารปนเปื้อน


ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากการศึกษาเรื่องพฤติกรรมการใช้กัญชาในกลุ่มผู้ใช้กัญชาในเขตกรุงเทพมหานคร โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกในผู้ใช้กัญชา 31 คน จำแนกเป็น ผู้ใช้โรคมะเร็ง 9 ราย ลมชัก 7 ราย อื่นๆ เช่น สะเก็ดเงิน เครียด นอนไม่หลับ เป็นต้น จำนวน 6 ราย ผู้ใช้ทดแทนยาเสพติดหรือใช้ร่วม 6 ราย และไม่ระบุโรค 5 ราย สาเหตุการใช้มาจากถูกปฏิเสธจากแพทย์ รักษาไม่หาย รักษาไม่ได้ เป็นวาระสุดท้าย ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เจริญอาหาร หรือป้องกันโรค น้ำมันกัญชาที่ใช้มาจากแพทย์พื้นบ้านผลิต คาดหวังว่าการใช้น้ำมันกัญชาจะช่วยให้หายจากอาการป่วย โดยเฉพาะโรคมะเร็ง มีผู้ป่วยบางคนที่ใช้น้ำมันกัญชาเพื่อการป้องกันการเกิดมะเร็งและพบการใช้น้ำมันกัญชาในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคลมชัก ช่วยให้คุณภาพชีวิตของเด็ก และสภาพจิตใจของผู้ดูแลดีขึ้น แต่ปัญหาของการใช้น้ำมันกัญชาในการรักษา คือ เมื่อ 2-3 ปีก่อน ยังขาดคู่มือหรือแนวทางปฏิบัติปริมาณการใช้น้ำมันในแต่ละโรค และจากการใช้กัญชาในระยะยาว

"ทั้งนี้ กพย. อยู่ระหว่างการยกร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม พ.ศ. ... ฉบับประชาชน โดยจะแยกกัญชาและกระท่อมจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด และ พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท จะเป็นการบริหารพืชยาสองชนิดนี้ ตั้งแต่ปลูก เมล็ดพันธุ์ แปรรูป ผลิตภัณฑ์ และอื่นๆ โดยจะมีการเปิดประชาพิจารณ์และขอความร่วมมือประชาชนในการลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นี้ เพื่อเสนอตามขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไป" ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว

ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ  กล่าวว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ได้ประกาศออกมาแล้วในราชกิจานุบกษา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2562 โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 60 วันนับจากวันที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยให้ความหมายของคำว่า "สมุนไพร" คือ ผลิตผลธรรมชาติที่ได้จากพืช สัตว์ จุลชีพ หรือแร่ที่ใช้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร นั่นหมายความว่า พืชกัญชาย่อมเป็นสมุนไพรตามความหมายของ พ.ร.บ.นี้ อย่างไรก็ตาม กัญชาอาจไม่เข้าความหมายของผลิตภัณฑ์สมุนไพร แม้จะเข้าลักษณะเป็นยาจากสมุนไพร ยาแผนไทย หรือยาพัฒนาจากสมุนไพรก็ตาม เนื่องจาก ยังคงเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และยาเสพติดให้โทษอยู่ตามกฎหมายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และกฎหมายยาเสพติดให้โทษ จึงควรมีการพิจารณาต่อไปว่า จะดำเนินการอย่างไร เช่น การให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพรประกาศกำหนดให้ผลิตภัณฑ์จากกัญชาบางประการ เช่น ตำรับยาเสพติดให้โทษที่มีกัญชาผสมอยู่ เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือการปลดล็อกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด เพื่อให้ผลิตภัณฑ์จากกัญชาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะส่งออกไปยังต่างประเทศหรืออื่นๆ

ผศ.ดร.คนึง กล่าวต่อว่า แม้กฎหมายระดับสากลจะมีแนวโน้มถอดกัญชาออกจากยาเสพติด แต่ถึงอย่างไรแต่ละประเทศก็ต้องมาออกกฎ ออกหลักเกณฑ์เป็นของตนเอง ซึ่งจริงๆ ก็ต้องรออนุสัญญาระหว่างประเทศมีการแก้ไขเปิดช่องก่อน เราคงไม่สามารถทำอะไรแบบก้าวกระโดดได้ คงทำได้ในเรื่องของการเฝ้าดูและเตรียมตัว.