ป้อง'บิ๊กเต่า'ไม่เกี่ยวแผนที่วันแม็พ แจงต่อยอดจากรบ.ชุดก่อน
การเมือง
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. นายโสภณ ทองดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการวันแม็พเป็นการต่อยอดผลการดำเนินงานจากโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 - 2555 ซึ่งเริ่มดำเนินการและแล้วเสร็จก่อนรัฐบาลชุดปัจจุบันจะเข้ารับตำแหน่ง อีกทั้ง พล.อ. สุรศักดิ์ รับตำแหน่งเมื่อช่วงเดือนส.ค. 2558 จึงมิได้เป็นผู้ดำเนินงานโครงการตามที่เป็นข่าว แต่ทั้งนี้ผลจากการดำเนินงานโครงการก็สามารถต่อยอดในการแก้ไขปัญหาการซ้อนทับของแนวเขตที่ดินป่าไม้ของประเทศ แต่เนื่องจากในบางพื้นที่ยังไม่มีข้อยุติของแนวเขตป่าไม้ที่ชัดเจน รวมถึง ยังไม่มีการจัดทำข้อตกลงร่วมกันกับราษฎรในพื้นที่เพื่อหาข้อยุติต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานเดียวกันกับแนวเขตที่ดินของรัฐทุกประเภท รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงได้ต่อยอดโครงการดังกล่าว เพื่อจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One map) เพื่อเป็นมาตรฐานและใช้ประโยชน์ร่วมกันตามที่ทราบกัน
ด้านนายวิจารณ์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยกรฯ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องเขาหัวโล้นต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินการ ตั้งแต่การดำเนินการจัดการกับพื้นที่ที่ถูกบุกรุก การฟื้นฟู การสร้างความเข้าใจและสร้างความตระหนักของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความร่วมมือและสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว รวมถึง การส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในพื้นที่เอกชน และการส่งเสริมแนวทางการดำเนินงานโดยยึดแนวพระราชดำริให้คนอยู่กับป่าได้ โดยการดำเนินงานภายใต้การนำของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยเน้นประโยชน์และความสุขของประชาชนเป็นสำคัญ อีกทั้ง ยังต้องเกิดความยั่งยืนในระยะยาว
"นับตั้งแต่ ครม.ได้มีมติ เมื่อวันที่ 22ธ.ค. 2558 อนุมัติหลักการการจัดที่ดินทำกิน ให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในลักษณะแปลงรวม โดยมิให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่มหรือชุมชน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติกำหนดในรูปแบบสหกรณ์ หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาการไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งผลที่ได้ตามมา คือ สามารถลดปัญหาการบุกรุกที่ดินป่าไม้ได้อีกด้วย โดยในปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 153 พื้นที่ ใน 58 จังหวัด เนื้อที่ประมาณ 5 แสนไร่ จัดคนลงในพื้นที่และรับรองรายชื่อแล้ว จำนวนกว่า 41,000 ราย พร้อมส่งเสริมอาชีพแล้ว 118 พื้นที่ ใน 56 จังหวัด ทำให้ราษฎรในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นชุมชนเข้มแข็ง มีศักยภาพและคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ยังจัดตั้งป่าชุมชนอีกจำนวน 6,228 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 3.68 ล้านไร่ ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนในการอนุรักษ์และดูแลป่าไม้ของประเทศ ทำให้ผืนป่าของประเทศไทยค่อย ๆ กลับฟื้นคืนสภาพสู่ความสมบูรณ์ และพื้นที่ป่าไม้ก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ"ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯกล่าว.