'จุรินทร์-เฉลิมชัย'ร่วมใจพาปชป. สร้างน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
การเมือง

“ถ้าผมมีโอกาสได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรค ผมก็จะทำเรื่องสำคัญระดับต้นๆ ในการที่จะต้องแสวงหาความร่วมมือ และต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสมีที่ยืน และมีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในการที่จะช่วยกันทำงานให้พรรคเจริญก้าวหน้าต่อไป และในทีมก็มีการผสมผสานคนทุกรุ่น เพราะนี่คือจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ และผมก็ต้องใช้จุดแข็งพรรคมาใช้ในการนำพาพรรคต่อไป เปิดให้คนทุกรุ่นมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม มีที่ยืนในการนำพาพรรคไปสู่ความสำเร็จ แล้วเข้าไปนั่งในหัวใจของประชาชนอีกครั้งในระยะเวลาไม่นาน”นายจุรินทร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความเคลื่อนไหวการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ว่า ขณะนี้มีผู้เสนอตัวลงสมัคร คือ นายจุรินทร์ นายกรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้าพรรค นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตรองหัวหน้าพรรค และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ ขณะที่ตำแหน่งเลขาธิการพรรคนั้น ทีมของ นายจุรินทร์ จะเสนอชื่อ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรค ซึ่งมีแนวโน้มว่าเป็นทีมที่จะได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกพรรคมากที่สุด นายกรณ์ จะเสนอชื่อ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ว่าที่ ส.ส.ตาก ขณะที่ นายอภิรักษ์ ได้ทาบทาม นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ว่าที่ส.ส.ตรัง เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่ง นายสาทิตย์ ยังแบ่งรับแบ่งสู้ เพราะต้องรอให้ นายอภิรักษ์ เป็นผู้เปิดเผยอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พ.ค. ส่วน นายพีระพันธุ์ เคยเตรียมที่จะเสนอ นายถาวร เสนเนียม ว่าที่ส.ส.สงขลา เป็นเลขาธิการพรรค แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ผู้เสนอตัวชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคได้นัดรับประทานอาหารร่วมกับบรรดาว่าที่ ส.ส.และสมาชิกพรรคตามกลุ่มภาค โดยแหล่งข่าวจากกลุ่มภาคเหนือ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มได้พบกับนายจุรินทร์ นายอภิรักษ์ และนายพีระพันธุ์แล้ว และเมื่อวันที่ 5 และ 6 พ.ค. ซึ่งแต่ละคณะได้แสดงวิสัยทัศน์และนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนพรรคให้ดีขึ้น ทั้งนี้ทางกลุ่มจะได้พบกับนายกรณ์ ในวันที่ 7 พ.ค.นี้ ส่วนการตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นหัวหน้าพรรคนั้น ตอบไม่ได้ว่าใครจะได้รับเลือกบ้าง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน แต่เชื่อว่าทุกคนเห็นในแนวทางที่ตรงกันถึงการฟื้นสภาพความแข็งแรง และความมั่นคงของพรรค เพื่อให้พร้อมกับการเลือกตั้งส.ส.ในครั้งต่อไป โดยคาดว่าการตัดสินใจของสมาชิกพรรคจะมีความชัดเจนมากขึ้นในสัปดาห์หน้าไปจนถึงวันที่ 15 พ.ค.นี้ที่จะมีการประชุมใหญ่ของพรรค เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ สำหรับปัจจัยภายนอกพรรค อาทิ การตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลนั้น ไม่เป็นประเด็นที่จะพิจารณาในขณะนี้ เพราะทิศทางการเมืองของพรรคต่อจากนี้ต้องเป็นความเห็นร่วมกันของสมาชิกและ ส.ส.ของพรรค ไม่ใช่ให้หัวหน้าพรรค หรือ เลขาธิการพรรคเป็นผู้ชี้นำแนวทาง.