ซ้อมใหญ่พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
การเมือง
ในปีพุทธศักราช 2562 นี้ ปฏิทินหลวงได้กำหนดวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ เป็นวันสวดมนต์เริ่มการพระราชพิธีพืชมงคล และถือเป็น ‘วันเกษตรกร’ ประกอบพระราชพิธี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2562 ในการนี้ เวลาประมาณ 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีพืชมงคล ทรงหลั่งน้ำสังข์ ทรงเจิม พระราชทานพระธำมรงค์กับพระแสงปฏักแก่ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่พระยาแรกนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง สำหรับวันถัดมาของการประกอบพระราชพิธี คือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ จะประกอบพระราชพิธี ในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2562 ฤกษ์ไถหว่านระหว่างเวลา 08.19 - 08.49 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา เปิดเผยว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือที่นิยมเรียกว่า พิธีแรกนา กำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี ซึ่งเป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย เพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกรให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก ทั้งนี้ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้สืบทอดมายาวนานตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย และได้มีการจัดงานเต็มรูปแบบตามประเพณีครั้งสุดท้ายในปี 2479 แล้วว่างเว้นไป จนกระทั่งในปี 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นมาใหม่ และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคล เป็น "วันเกษตรกร” ประจำปีด้วย ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2562 ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรร่วมกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพทางเกษตรกรรม ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอาชีพที่มีความสำคัญยิ่ง ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ นอกจากนี้ ในงานพระราชพิธีฯ ยังมีการมอบรางวัลและยกย่องประกาศเกียรติคุณให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นประเภทต่าง ๆ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ที่ผ่านการคัดเลือก พร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก และยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติอีกด้วย.