ข่าวอันตราย!ไข้เลือดออกระบาดหนักดับแล้ว27ราย - kachon.com

อันตราย!ไข้เลือดออกระบาดหนักดับแล้ว27ราย
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรงสาธารณสุข ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 3 พ.ค.2562 ส่งถึง อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ผอ.สำนักอนามัยกรุงเทพฯ นายกสมาคมรพ.เอกชน ประธานราชวิทยาลัยการแพทย์แห่งประเทศไทย ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย  เรื่องขอความร่วมมือดำเนินมาตรการป้องกันผู้ป่วย โรคไข้เลือดออกเสียชีวิต เนื่องจากพบว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของไทยในปี 2562 มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนม.ค.เป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยสูงเกินค่าเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลัง และคาดว่าจะพบผู้ป่วยทั่วประเทศมากกว่า 1 หมื่นรายต่อเดือน ระหว่างเดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้ และอาจพบผู้ป่วยทั้งปีสูงถึง 95,000 ราย นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่อายุมากกว่า15 ปี หรือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน เป็นต้น 

ทั้งนี้ในหนังสือดังกล่าวยังได้แนบหลักเกณฑ์การวินิจฉัยการรับ รับส่งต่อผู้ป่วยด้วย อาทิ เกณฑ์การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก อาการทางคลินิก  เช่น ไข้เฉียบพลัน และสูงลอยเกินกว่า 2 วัน ร่วมกับข้อใดข้อหนึ่ง ประกอบด้วย มีภาวะเลือดออก ตับโต หรือมีอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียน รวมทั้งให้ระมัดระวัง กรณีผู้ป่วยมีโรคติดเชื้ออื่นๆร่วมด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง ควรพิจารณารับไว้เป็นผู้ป่วยในตามความเหมาะสม ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคเลือด โรคไต เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สามารถติดตามการรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะ อาการที่พบส่วนใหญ่มักมีไข้สูงลอย 2-5 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาเจียน อาจมีอาการไอแต่ไม่มีน้ำมูก มีจุดเลือดออกตามตัว เลือดออกตามไรฟัน หลังไข้ลดแล้วมีอาการซึม อาจเข้าสู่ภาวะช็อค ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ไตวาย ตับวาย และเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น ภาวะอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หอบหืด ภาวะติดสุรา ธาลัสซีเมีย หรือมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน เป็นต้น ส่วนสถานการณ์ผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก จากรายงานของสำนักระบาดวิทยามีการรายงานข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 1 พ.ค.พบผู้ป่วยประมาณ 18,000 ราย และผู้เสียชีวิต 27 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 12 ราย.