ทช.เฮ!"พะยูน"เพิ่มขึ้นถึง250ตัว แต่ยังเสี่ยงสูญพันธุ์
การเมือง
นายจตุพร กล่าวว่า พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในน้ำ มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70 ปี กินพืชในน้ำเป็นอาหาร โดยเฉพาะหญ้าทะเลบริเวณชายฝั่ง เราสามารถพบเจอพะยูนได้ในทะเลชายฝั่งเขตอบอุ่น ตั้งแต่ชายฝั่งทวีปแอฟริกาตะวันออกไปจนถึงทวีปออสเตรเลีย ซึ่งนั่นรวมถึงทะเลแดง มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก
"พะยูน มีบรรพบุรุษร่วมกับแมนนาที หรือวัวทะเล พวกมันมีความคล้ายคลึงกันทั้งในด้านลักษณะกายภาพภายนอกและพฤติกรรม และสัตว์ทั้งสองสายพันธุ์นี้ก็มีบรรพบุรุษร่วมกับสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างช้าง ถึงแม้ว่าพวกมันจะไม่ได้มีลักษณะภายนอกและพฤติกรรมที่เหมือนกันก็ตาม ด้วยความที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำ พวกมันจึงต้องขึ้นมาบนผิวน้ำเพื่อหายใจทุกๆ 6 นาที ในบางครั้ง พวกมันหายใจด้วยการยืนด้วยหางและเอาหัวโผล่ขึ้นพ้นน้ำ"นายจตุพร กล่าว
อธิบดี ทช.กล่าวว่า ประเทศไทยได้ออกกฎหมายเพื่อปกป้องพะยูนมานานแล้ว พะยูนได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ในปี พ.ศ. 2535 และตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITES) พะยูนซึ่งเป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม ได้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ลำดับ 86 ของบัญชีไซเตส จึงเป็นสัตว์ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย และเพาะพันธุ์เท่านั้น สำหรับในระดับโลก สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้จัดอันดับให้พะยูนอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ไปแบบไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าไร้ซึ่งการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากมนุษย์
"ทช.ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการดูแล อนุรักษ์ และฟื้นฟูสัตว์ทะเลหายาก ได้ร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นภายในพื้นที่ เพื่อหาทางเพาะพันธุ์และฟื้นฟูปริมาณพะยูนในธรรมชาติให้มีมากขึ้น รวมถึงรณรงค์ให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์พะยูน โดยเมื่อปี 2561 มีการสำรวจประชากรพะยูนในทะเลตรังอีกครั้ง ค้นพบว่ามีพะยูนคู่แม่ลูก 42 คู่ ซึ่งเป็นข้อมูลยืนยันว่ามีพะยูนมากกว่า 210 ตัว และถ้ามนุษย์ไม่ล่ามันเพิ่มเติมก็เชื่อว่าในปี 2562 พะยูนจะเพิ่มขึ้นอีกราว 250 ตัว นอกจากนี้ เมื่อนำข้อมูลปี 2560 ซึ่งพบว่ามีพะยูนประมาณ 169 ตัวมาเปรียบเทียบ ก็พบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรพะยูนอย่างน่าดีใจ สาเหตุที่ประชากรพะยูนเพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยที่สำคัญคือความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการเดินเรือ ประชาชนในพื้นที่ที่ร่วมกันรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้พะยูนเป็นสัตว์สงวนและช่วยกันอนุรักษ์ไว้ อีกทั้งชาวประมงก็ไม่ควรใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลหายาก เข้ามารุกล้ำทำการประมงในเขตที่อยู่อาศัยของพะยูน รวมไปถึงการฟื้นฟูหญ้าทะเลให้เป็นแหล่งอาหารของพะยูนอย่างต่อเนื่อง" อธิบดีทช.กล่าว.