ข่าวเปิดตัวครม.ใหม่ - kachon.com

เปิดตัวครม.ใหม่
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีทั้งหมด 26 พรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยพรรคอนาคตใหม่ได้ 50 ที่นั่ง รรคประชาธิปัตย์ 19 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐได้ 18 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 12 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทย 10 ที่นั่ง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 ที่นั่ง พรรคเพื่อชาติ 5 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 4 ที่นั่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 4 ที่นั่ง พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา 2 ที่นั่ง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 ที่นั่ง  ด้านพรรคประชาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคประชาธิวัฒน์ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคไทรักธรรม ได้อย่างละ 1 ที่นั่ง จนสร้างความลือลั่นให้กับประชาชนที่ติดตามข่าวสาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวิธีการคำนวณที่กกต.นำมาคำนวณจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อคิดจากผลคะแนนที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อใน 349 เขตเลือกตั้ง รวม 74 พรรคการเมือง  เป็นคะแนนทั้งสิ้น 35,441,920 คะแนน ซึ่งเมื่อ กกต.ประกาศส.ส.ในระบบแบ่งเขต349 เขต จึงต้องนำ 349 มาหาร จำนวนส.ส.เขตเต็ม 350 จะได้ ค่าเฉลี่ย 0.9971 จากนั้นนำจำนวนดังกล่าวมาคูณด้วย ส.ส.ทั้งสภาคือ500 คน จะได้จำนวนส.ส.ที่จะประกาศผลทั้งหมด 498.5714 คนซึ่งกฎหมายกำหนดให้ถือเอาเฉพาะจำนวนเต็ม จึงเหลือ 498 คน เมื่อหักส.ส.เขต 349 จึงเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ 149 คน  

จากนั้นนำคะแนนรวมที่ 74 พรรคการเมืองได้รับคือ35,441,920มาหารด้วย 498 คน ก็จะได้ค่าเฉลี่ยต่อส.ส. 1 คน คือ 71,168.5141 คะแนนแล้วนำจำนวนดังกล่าวมาหารคะแนนรวมของแต่ละพรรคก็จะได้จำนวน ส.ส.พึงมีเบื้องต้นจากนั้นนำจำนวนส.ส.พึงมีเบื้องต้นไปลบกับ ส.ส.เขตที่แต่ละพรรคได้รับก็จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้ในเบื้องต้นเมื่อรวมแล้วพบว่าจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้ในเบื้องต้นเกินเป็น 174.2629 คนซึ่งถือว่าเกินจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะจัดสรรแค่ 149 คน ทั้งนี้เป็นผลมาจากพรรคเพื่อไทยได้ส.ส.เขตเกินกว่าจำนวนส.ส.ที่พึงมี

ดังนั้นจึงต้องนำมาปรับและใช้การคำนวณใหม่ โดยนำจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้ในเบื้องต้นมาคูณด้วย149 แล้วหารด้วย 174.2629 ก็จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ปรับให้เหลือ149 คนซึ่งจะต้องจัดสรรที่นั่งให้กับพรรคการเมืองตามจำนวนเต็มก่อน ส่งผลให้การจัดสรรรอบแรกมีพรรคการเมืองได้รับการจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อ 15 พรรคการเมืองเมื่อรวมแล้วจะจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้เพียง 129 ที่นั่ง ยังขาดอีก 20 ที่นั่งจึงต้องนำเศษทศนิยมมาจัดสรรให้พรรคการเมืองโดยเรียงตามคะแนนทศนิยมจากมากไปหาน้อยจนได้ครบ20 ที่นั่ง ซึ่งก็จะมีผลให้พรรคอนาคตใหม่ภูมิใจไทย เสรีรวมไทย เศรษฐกิจใหม่ และประชาชาติ ซึ่งได้รับการจัดสรรในรอบแรกไปแล้ว ได้รับการจัดสรรเพิ่มอีกพรรคละ 1 ที่นั่งและมีพรรคการเมืองที่คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ได้รับการจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคละ 1 คนอีก 11 พรรคการเมือง
พรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 149 คน ประกอบด้วย  พรรคพลังประชารัฐ 18 คน  พรรคอนาคตใหม่ 50 คน พรรคประชาธิปัตย์ 19 คน พรรคภูมิใจไทย 12คน พรรคเสรีรวมไทย 10 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 4 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน พรรคประชาชาติ 1 คน พรรคเพื่อชาติ 5 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 4 คน พรรคชาติพัฒนา 2 คน พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 คน พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน พรรคพลังชาติไทย 1 คน พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน พรรคไทยศรีวิไลย์1 คน พรรคพลังไทยรักไทย 1 คน พรรคประชานิยม 1 คน พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 คน พรรคประชาธรรมไทย 1 คน พรรคประชาชนปฏิรูป  1 คน พรรคพลเมืองไทย 1 คน พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 คน พรรคพลังธรรมใหม่ 1 คน พรรคไทรักธรรม 1 คน
 
ผู้สื่อข่าวได้ถามนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. ว่าสูตรที่ใช้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  เป็นสูตรเดียวกับของกรธ.หรือไม่ นายแสวง ไม่ขอตอบโดยกล่าวเพียงว่า เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนถ้าใครจะร้องเรียนว่ามีพรรคที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส.นั้น ถือว่ากกต.ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ถ้าเห็นว่าไม่เป็นตามนั้นก็ใช้สิทธิ์ตามกฎหมายได้  เรื่องการใช้สูตรดังกล่าว ถ้าดูตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็จะบอกว่ากรณีที่ไม่สามารถจัดสรรให้ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้วิธีการที่คำนวณที่กำหนดไว้ในมาตรา 128 (3) (4) (5) (6) (7) ซึ่งจัดสรรให้ทุกพรรคการเมือง และมาตราดังกล่าวก็ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบของรัฐธรรมนูญกกต.จึงพิจารณาไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยวันนี้ทางสำนักงานได้เสนอไปเพียงสูตรเดียวโดยไม่มีเหตุผล เพราะเป็นไปตามกฎหมาย ถ้าสูตรนี้ถูก ก็ไม่มีสูตรอื่น สำนักงาน กกต.เสนอแบบนี้ไปแบบเดียว เว้นแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเป็นแบบอื่น ส่วนที่ใช้เวลาในการพิจารณานานนั้นเพราะกกต.มีการประชุมหลายวาระ ไม่ใช่มีเพียงวาระเดียวเมื่อการเลือกตั้งเขต8 จ.เชียงใหม่เสร็จสิ้นและประกาศรับรองส.ส.แล้ว ก็จะต้องนำผลคะแนนมาคำนวณใหม่และสามารถเปลี่ยนแปลงผู้ได้รับการเลือกตั้งได้ ซึ่งกฎหมายได้เขียนรับรองไว้แล้ว

ด้านพรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง คัดค้านวิธีการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)แบบบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของกกต.ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. อาจจะส่งผลต่อบริบททางการเมืองภายภาคหน้าอย่างมีนัยสำคัญ เข้าข่ายเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งจะใช้ช่องทางดำเนินการตามกฎหมายต่อกกต.ในทุกช่องทางที่จะทำได้ต่อไป

ส่วนที่พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ หัวหน้าพรรค และนายปิยบุตรแสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ร่วมกันแถลงภายหลัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) รับรองรายชื่อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยนายปิยบุตร กล่าวว่า  กกต. เลือกใช้สูตร 27 พรรคในการคำนวณ ในความเห็นของพวกตน การใช้วิธีการที่ กกต.ใช้ น่าจะขัด กับ รัฐธรรมนูญมาตรา 91 จากนี้ จะไปยื่นคำร้องไปยัง กกต. เสนอให้ กกต. เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 210(2) เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่า กรณีนี้มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ  2.ใช้อำนาจตามมาตรา 213 ที่ระบุว่า บุคคลใดที่ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้น มีสิทธิยื่นเรื่องฟ้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เขียนประกอบไว้ว่า หากจะฟ้องตรง ต้องเริ่มจากการใช้ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่หากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ส่งเรื่องต่อ คนที่เริ่มร้องสามารถส่งเรื่องด้วยตนเอง ซึ่งเรายืนยันว่าจะทำ ทั้ง 2 วิธี  เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าการใช้สูตรคำนวณแบบ 27 พรรค นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่