ข่าวส่องศึกชิงหัวหน้าปชป.รู้แน่15พ.ค. ใครกุมบังเหียนคนใหม่ - kachon.com

ส่องศึกชิงหัวหน้าปชป.รู้แน่15พ.ค. ใครกุมบังเหียนคนใหม่
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
หลังจากพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้อย่างหมดรูป ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24  มี.ค.จนทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งวันที่ 15 พ.ค.จะมีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่  ล่าสุดมีแคนดิเดตประกาศชิงตำแหน่ง 4 คน คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองหัวหน้าพรรค นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน แกนนำพรรคและอดีตผู้ว่ากทม. และนายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรมว.ยุติธรรม ซึ่งศึกชิงหัวหน้าพรรคครั้งนี้  ไม่ว่าผู้ชนะจะเป็นใคร แต่จะทรงความหมายทางการเมืองอย่างยิ่ง ต่อการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า จะเลือกเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ หรือ วางตัวเป็นกลางอย่างอิสระ  ฉะนั้นปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ศึกชิงหัวหน้าพรรคเป็นไปอย่างคึกคัก โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ (9 พ.ค.)พรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดให้ผู้เสนอตัวลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ต่อสมาชิกในพื้นที่ภาคใต้   ซึ่งมี นายกรณ์ นายอภิรักษ์และนายพีระพันธุ์ เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ขาดเพียงนายจุรินทร์ ที่ติดภารกิจลงพื้นที่จ.ขอนแก่น


นายกรณ์ แสดงวิสัยทัศน์ว่า ประเด็นสำคัญที่สุด คือ เรื่องของความสามัคคีในพรรค ว่า จะทำอย่างไรให้ภายหลังจากการเลือกหัวหน้าพรรคฯครั้งนี้ เรากลับมาทำงานร่วมกันอย่างมีพลัง หลังจากผลการเลือกตั้งทำให้เหลือ ส.ส. เพียง 52 คน และยังมีสมาชิกพรรคฯที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก ที่จะต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้พวกเขาได้กลับเข้ามาเป็น ส.ส. อีกครั้ง จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ตนได้เชิญชวน นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก เข้ามาในฐานะว่าที่เลขาธิการพรรคฯ

“ผมเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทบทวนว่า สุดท้ายแล้วสาขาพรรคทำให้เราเข้มแข็งกว่าเขาหรือไม่ อีกทั้งจากผลการเลือกตั้งและวัฒนธรรมของพรรคที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ผู้อาวุโสในพรรค จะต้องลงรับสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ และ ผู้ที่มีฐานเสียงในระดับเขตและคนรุ่นใหม่ของพรรค จะต้องลงสู้ในระดับเขต ซึ่งถือเป็นเรื่องที่จะต้องหยิบยกพิจารณาว่า ตามกติกาในปัจจุบัน ผู้สมัคร ส.ส. จะต้องเป็นผู้ที่ต้องเป็นผู้สมัคร ที่สามารถมั่นใจได้ว่าเรียกคะแนนให้พรรคให้ได้มากที่สุดในแต่ละเขต  เราจะทบทวนหรือไม่ว่า ผมควรจะต้องลงเขต แกนนำพรรคจะต้องลงเขต ซึ่งประเด็นนี้ ทางพรรค ควรที่จะต้องทบทวนและมาตั้งคำถามว่าจะยึดแนวทางเดิมหรือจะปรับเปลี่ยนตามกติกาหรือไม่” นายกรณ์ กล่าว


ด้าน นายอภิรักษ์ กล่าวว่า เหตุผลที่ลงสมัครหัวหน้าพรรค เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง พร้อมเดินหน้าในฐานะผู้นำในการบริหารเปลี่ยนแปลงพรรค เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมยุคใหม่ และอยากช่วยสมาชิกทุกๆ ภูมิภาคในการทำหน้าที่เพื่อประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น รวมทั้งสร้างศรัทธาของประชาชนที่มีต่อประชาธิปัตย์ในพื้นที่ใหม่ๆ ทั่วประเทศ เพราะวันนี้มองว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนแปลง และการบริหารพรรคนั้น ไม่ใช่ปล่อยให้หัวหน้าพรรคและเลขาฯบริหารงานเหมือนเป็นซูเปอร์แมน ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องทำงานเป็นทีม เปรียบเสมือนเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอล นำบุคคลที่มีประสบการณ์ มีมุมมองร่วมสมัย ช่วยกันทำงานกับคนรุ่นใหม่ และเปิดพื้นที่ให้คนนอกพรรค มาช่วยกันขับเคลื่อน ซึ่งผมอยากขอโอกาสในการทำงานร่วมกับทุกคน เพื่อสร้างประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงพรรคในครั้งนี้


ขณะที่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตนมาด้วยใจ เป็นคนหน้ากับใจที่ตรงกัน และไม่ได้รับงานมาจากใครในการลงหัวหน้าพรรคฯครั้งนี้ ถ้าตนได้เป็นหัวหน้าพรรค จะทำให้ไม้ซีกกลับมาเป็นไม้ซุงเช่นเดิม และจะบริหารพรรคฯด้วยความเสมอภาค  และหากได้เป็นหัวหน้าพรรคฯ และพรรคมีมติเข้าร่วมรัฐบาล ตนจะไม่รับตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะที่ผ่านมาปัญหาเกิดจากการบริหารพรรคฯที่ผิดพลาด ไม่เป็นธรรม คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมที่สุดเขาก็จะระเบิดออกมา


ที่โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น นายจุรินทร์ ได้พบปะกับสมาชิกพรรคภาคอีสานกว่า 40 คนและได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยสมาชิกพรรคภาคอีสานส่วนใหญ่ เห็นตรงกันว่า คนที่จะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น ต้องมีศักยภาพที่เป็นได้ทั้งนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้าน และเห็นตรงกันว่าจะสนับสนุน นายจุรินทร์ เป็นหัวหน้าพรรค

ด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง รักษาการกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์จะมีการประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 15 พ.ค.นี้ เวลา 08.00น.ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ โดยมีวาระเพื่อกำหนดเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริการพรรค (กก.บห.)ใหม่  และเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)รับรองส.ส.แบบเขต และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อก็จะมีความชัดเจนมากขึ้น